NPPG ล้างบ้านใหม่ หวังเริ่มพลิกกำไรปีหน้า หลังขาดทุนยาว 5 ปีรวด 

64

มิติหุ้น – NPPG “เชิดศักดิ์” หัวเรือใหญ่คนใหม่ รับปีนี้ยังมีผลขาดทุน พร้อมปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ยกเซ็ท  กางแผนพลิกกำไร-รายได้แตะ 1.45 พันล้านบาทในปีหน้า พร้อมตัดขายธุรกิจขาดทุนยกแผง – อัพกำลังผลิตเพิ่มเท่าตัว

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.เอ็นพีพีจี  หรือ NPPG  โดยนายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ กรรมการและประธานกรรมการบริหาร เปิดเผยว่า บริษัทฯตั้งเป้าปีหน้าจะกลับมาพลิกมีกำไรสุทธิ จากที่ขาดทุนติดต่อกันมาหลายปี   เบื้องต้นคาดว่าจะมีกำไรสุทธิตั้งแต่ไตรมาส 2/62 เป็นต้นไป เนื่องด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจเข้าสู่จุดสมดุล และพร้อมที่จะสร้างผลการดำเนินงานให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง   ขณะที่อัตรากำไรสุทธิ (Net profit margin) ในปีหน้า คาดจะอยู่ในระดับ  5% จากปัจจุบันติดลบอยู่ที่ 13.91%

สำหรับรายได้ปีหน้าตั้งเป้าเติบโต 10-15% เป็น 1,450 ล้านบาท จากสิ้นปีนี้คาดทำได้กว่า 1,200 ล้านบาท เป็นไปตามการเติบโตของธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์   ที่คาดจะเติบโต 12% จากปีนี้คาดมีรายได้อยู่ที่ 690 ล้านบาท, ธุรกิจอาหารแช่แข็ง คาดเติบโต 20% จากปีนี้คาดมีรายได้อยู่ที่ 356 ล้านบาท และธุรกิจบริการอาหารจานด่วน (QSR) คาดโต 20% จากปีนี้คาดมีรายได้อยู่ที่ 190 ล้านบาท

โดยรายละเอียดแผนในปีหน้าทางบริษัทจะเน้นการทำกำไรสุทธิให้เติบโต  จากการปิดสาขาร้านอาหาร ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และคงร้านที่สร้างรายได้ในระดับสูงไว้ โดยภายในสิ้นนี้จะมี ร้านอาการภายในแบรนด์  A&W  อยู่ที่ 40 สาขา อีกทั้งจะเปิดสาขา Kitchen Plus จำนวน 10 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ 2 สาขา , สาขา DEAN&DELUCA จำนวนไม่เกิน 10 สาขา จากปัจจุบันเปิดแล้ว 2 สาขา ที่ภูเก็ต และร้านอาหารบ้านครัวไทย

นอกจากนี้ มีแนวทางจะทำการขายธุรกิจที่ไม่ทำกำไรออกไป ในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Non-core) เช่น การลงทุนในหุ้น , อื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีผลขาดทุนอย่างมาก

ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ปัจจุบันได้มีออเดอร์ใหม่เข้ามาจำนวนมาก โดยภายในไตรมาส 1/62 เตรียมเซ็นสัญญารับออเดอร์ล็อตใหญ่ประมาณ  800 ตันต่อปี จากลูกค้า 3 ราย และคาดว่าจะมีลูกค้ารายอื่นๆ เข้ามาอีกจำนวนมาก โดยทางบริษัทได้ทำการสั่งซื้อเครื่องจักรรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะติดตั้งและเดินเครื่องผลิตอย่างเต็มประสิทธิภาพได้ภายในไตรมาส 1/62 ทันที ราว 2,000 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 1,200 ตันต่อปี พร้อมด้วยมาร์จิ้นที่สูงกว่าอุตสาหกรรมแพคเก็จจิ้ง  อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีลูกค้ารายใหม่เข้ามาสั่งออเดอร์เพิ่ม ทางบริษัทได้มีพันธมิตรที่สามารถสนับสนุนในแง่ของโรงงานการผลิต จึงทำให้บริษัทสามารถรองรับออเดอร์ได้ถึง  4,000 ตันต่อปี

สำหรับปีนี้ยอมรับว่ายังมีผลขาดทุน แต่การปรับโครงสร้างธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อ และผลการดำเนินงานจะดีขึ้นในทุกไตรมาส  ส่วนขาดทุนสะสมที่มีอยู่ 600 ล้านบาท ทางบริษัทจะหาแนวทางจัดการต่อไป เมื่อเริ่มพลิกมีกำไรสุทธิ