LHFG กางแผนปี62ลุยสินเชื่อรายใหญ่ – ผนึกCTBCให้บริการเทรดไฟแนนซ์

284

มิติหุ้น – ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LHBANK โดยนางศศิธร พงศธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2562 ธนาคารได้มีการตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ 5-6% โดยธนาคารจะเน้นไปที่การขยายสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งมองว่าจะได้ประโยชน์จากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ส่งผลให้ความต้องการใช้สินเชื่อเพิ่มมากขึ้น

โดยปัจุบันสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 70% ของพอร์ตสินเชื่อรวม จากปีก่อนมีสัดส่วน 60% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ในระดับเท่ากันที่ 15% คิดเป็นสินเชื่อ 2.4 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารได้ชะลอการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเอสเอ็มอี เนื่องจากเห็นว่าหนี้ด้อยคุณภาพมีสัญญาณที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 ธนาคารวางเป้าหมายที่จะควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ที่ระดับไม่เกิน 2% ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2561 โดยธนาคารยังคงมีแผนการตัดจำหน่ายหนี้สูญออกไปตามปกติ เพื่อรักษาระดับ NPL ให้อยู่ในระดับที่ธนาคารควบคุมได้ และ Coverage ratio ของธนาคารจะยังคงอยู่ที่ 110%

นอกจากนี้ ธนาคารจะเดินหน้าบริการ Wealth Management, Digital Banking และ Trade Finance อย่างต่อเนื่องโดยเป็นความร่วมมือกับ CTBC Bank ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา กลุ่มการเงิน LHFG มีการพัฒนาในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่ออำนวยความสะดวก และยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์และตรงกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของลูกค้า เช่น การซื้อขายหุ้น การซื้อขายกองทุน และการเปิดบัญชีใหม่ผ่าน Application LH Bank M Choice ซึ่งในไตรมาส 1/2562 ธนาคารจะเปิดให้บริการใหม่ เช่น บริการธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ(Trade Finance) และบริการรับชำระเงินจาก E-Wallet ผ่าน QR Code เป็นต้น

ด้านนายรัตน์ พานิชพันธ์ ประธานกรรมการ บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป หรือ LHFG กล่าวว่า เป้าหมายการดำเนินธุรกิจของธนาคารในปี 2562 จะเน้นไปที่การขยายสินเชื่อรายใหญ่มากขึ้น และชะลอการขยายสินเชื่อรายย่อยเนื่องจากมีความเสี่ยงเรื่องหนี้ NPL ทั้งในกลุ่มสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเอสเอ็มอี โดยเฉาะปัญหาหนี้เสียของสินเชื่อบ้านในระบบที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในส่วนลูกค้าที่กู้ซื้อบ้านของธนาคารบางรายที่ผ่อนมาแล้ว 7-8 ปีเริ่มพบปัญหาหนี้เสีย ทำให้ธนาคารตัดสินใจชะลอการปล่อยสินเชื่อบ้านลง

สำหรับกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอี ธนาคารมองว่ามีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของกำหนดการเริ่มใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่จะมีผลกระทบต่อลูกค้าเอสเอ็มอีค่อนข้างมาก และในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นอาจทำให้ลูกค้าเอสเอ็มอีมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงหากธนาคารจะขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีในขณะนี้