Brexit วิกฤติซ้อนวิกฤติ

273

เสถียรภาพของรัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ กำลังสั่นคลอนอย่างหนัก หลังรัฐมนตรีซึ่งดูแลกิจการด้านการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Department for Exiting the European Union หรือกระทรวง Brexit) รวมถึงรัฐมนตรีอีกหลายรายพากันตบเท้าลาออกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกจำนวนไม่น้อยในพรรครัฐบาลมองว่าข้อเสนอครั้งล่าสุดของนายกฯ เมย์ ซึ่งไปตกลงกับสหภาพยุโรป (อียู) บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเกินไปกับภาคพื้นยุโรป ซึ่งถือว่าไม่เป็นการเคารพผลประชามติเมื่อปี 2559

ในระยะสั้นนี้ นายกฯ เมย์สุ่มเสี่ยงที่จะต้องเผชิญการลงมติไม่ไว้วางใจ หรือแม้กระทั่งบางกลุ่มซึ่งอยู่ฝ่ายสนับสนุนยุโรปต้องการให้มีการจัดทำประชามติครั้งใหม่ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นประเด็นพรมแดนที่ยังค้างคาระหว่างแคว้นไอร์แลนด์เหนือของ สหราชอาณาจักรกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอียูก่อให้เกิดความกังวลที่ว่าความเป็นปึกแผ่นของสหราชอาณาจักรอาจต้องล่มสลายในที่สุด

ทั้งนี้ ผลการลงประชามติเมื่อสองปีก่อนบ่งชี้ว่า เสียงส่วนใหญ่จากประชาชนชาวไอร์แลนด์เหนือ และสก็อตแลนด์ โหวตให้สหราชอาณาจักรอยู่ต่อในอียู โดยปัจจุบันหากมีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากรบริเวณพรมแดนไอร์แลนด์เหนือกับไอร์แลนด์ อาจเป็นการขัดต่อแนวทางสันติวิธีในพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่สก็อตแลนด์อาจมีแรงจูงใจมากขึ้นในการจัดทำประชามติอีกครั้งเพื่อแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร หากนายกฯ เมย์พ่ายแพ้มติไม่ไว้วางใจและถูกโค่นลงจากตำแหน่ง

นักวิเคราะห์ของ MUFG สาขาลอนดอน คาดว่าเงินปอนด์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีก 3-5% จากระดับปัจจุบัน และจะผันผวนต่อไปจนกว่าตลาดจะแน่ใจว่าสหราชอาณาจักรจะสามารถหลีกเลี่ยง No-deal Brexit หรือ การหย่าขาดจากอียูโดยไร้ข้อตกลง และถ้ามีข้อตกลงเกิดขึ้นก็จะต้องเป็นดีลที่ดีสำหรับสหราชอาณาจักร ในทางกลับกัน นายกฯ เมย์เคยกล่าวไว้ว่าการที่ไม่ได้ข้อตกลงอะไรเลยยังดีเสียกว่าได้ข้อตกลงที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติ โดยในกรณี No-deal Brexit คาดว่าเงินปอนด์อาจร่วงลงอีก 10-15% หลังจากดิ่งลงมาแล้ว 14% นับตั้งแต่ผลประชามติในเดือนมิถุนายน 2559 (กราฟด้านล่าง)

สำหรับผลกระทบต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากฝั่งยุโรปกดดันค่าเงินยูโรและเงินปอนด์ โดยต้องยอมรับว่าเงินดอลลาร์ ซึ่งมีปัจจัยลบน้อยกว่าในระยะสั้นๆ จะสร้างแรงกดดันต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายให้ไหลออกจากกลุ่มตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยได้ อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ กลับมาปรับลดลงในช่วงนี้ สะท้อนภาพที่ยังคงคลุมเครือเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ในปี 2562 สภาพแวดล้อมเช่นนี้ คาดว่าจะส่งผลให้ตลาดการเงินโลกอยู่ในภาวะผันผวนเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

โดยรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihon.com