BAY วางกลยุทธ์บุกวาณิชธนกิจ กุมควบรวมกิจการในมือ 5 ดีล

231

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY วางกลยุทธ์บริการลูกค้าแบบครบวงจร หวังช่วยเสริมศักยภาพด้านวาณิชธนกิจ (Investment Banking) โดยนายสิทธิไชย มหาคุณ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านวาณิชธนกิจ เปิดเผยว่า การระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มว่ายังมีการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2561 คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ของภาคเอกชนไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท และคาดว่าในปี 2562 ภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังคงระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารตั้งเป้ากลุ่มงานวาณิชธนกิจเติบโต ประมาณ 25-30% ในปี 2562

ทั้งนี้ ธนาคารมีความพร้อมในการให้บริการ ทั้งในด้านสินเชื่อโครงการ (Project Finance) การจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ (DCM) การให้บริการที่ปรึกษาทางการเงินและการรับประกันการจัดจำหน่ายในการระดมทุนจากการเสนอขายตราสารทุน (ECM) และการควบรวมและการซื้อกิจการ (M&A) โดยสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าด้วยเครือข่ายของธนาคาร และความร่วมมือกับบริษัทในเครือ คือ บล.กรุงศรี (KSS) บลจ.กรุงศรี (KSAM) รวมทั้งเครือข่ายของ MUFG ซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นผู้จัดสรรเงินกู้รายใหญ่อันดับ 1 ของโลก

โดยในปีที่ผ่านมา กรุงศรี กรุ๊ป และ MUFG ประสบความสำเร็จในการจัดหาวงเงินสินเชื่อโครงการให้กับลูกค้าในธุรกิจพลังงาน และอากาศยาน ในการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ของบริษัทในหลากหลายกลุ่มธุรกิจที่สำคัญในประเทศไทย เช่น บริษัทที่เป็นผู้นำในธุรกิจพลังงาน และสาธารณูปโภค ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ด้านสินเชื่อ Project Finance กรุงศรีได้รับความร่วมมือจาก MUFG ในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงธุรกิจการบิน และคาดว่าความต้องการด้านบริการจัดโครงสร้างทางการเงินและสินเชื่อโครงการ (Project Finance and Structured Finance) มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยขับเคลื่อนจากความคืบหน้าของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยจะเน้นขนาดของดีลมูลค่าอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท ในด้านการออกจำหน่ายตราสารหนี้ กรุงศรีมุ่งเน้นบริการแบบครบวงจรที่มีมูลค่าดีลอย่างน้อย 2,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธนาคารยังเน้นงานที่ปรึกษาทางการเงินในเรื่อง M&A ผ่านการเชื่อมโยงของเครือข่าย MUFG โดยปัจจุบันมีดีลอยู่ในมือจำนวน 5 ดีล โดยเป็นดีลที่บริษัทต่างชาติจะเข้าซื้อกิจการในไทยจำนวน 4 ดีล และบริษัทของไทยมีแผนซื้อกิจการ 1 ดีล ซึ่งแต่ละรายมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านบาท โดยเป็นธุรกิจกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต โดยคาดจะมีความชัดเจนของดีลในช่วงปี 2562

www.mitihoon.com