SCBลดเป้าจีดีพีปี61 – ส่องลงทุนภาคเอกชนขยายตัว

193

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ระบุภายหลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 3/2561 ขยายตัว 3.3% ซึ่งขยายตัวต่ำสุดในรอบ 7 ไตรมาส และชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.6% โดยเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงในรูปสกุลเงินบาทที่ลดลง 0.1% จากการขยายตัวในไตรมาส 2/2561 ที่ 6.8% เป็นผลมาจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่เริ่มชะลอตัว รวมทั้งมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยยังเริ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

สำหรับภาคการท่องเที่ยวก็มีการชะลอตัวเช่นกัน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 3/2561 ขยายตัวที่ 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 9.1% มีสาเหตุมาจากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่หดตัว 8.8% ซึ่งลดลงจากการขยายตัวในระดับสูงที่ 21.3% ในครึ่งปีแรก

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3/2561 เติบโตสูงสุดในรอบ 22 ไตรมาสที่ 5.0% เร่งขึ้นจากการขยายตัวที่ 4.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยสินค้าหมวดสินค้าคงทนที่เติบโต 10.6% โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์นั่งที่เติบโตถึง 27.0% เร่งขึ้นจาก 25.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ในส่วนการเติบโตของการบริโภคในกลุ่มไม่คงทนทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยทรงตัว 0.0% ชะลอลงจากการเติบโตในไตรมาส 2/2561 ที่ 0.9% สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนยังคงพึ่งพาผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก ส่วนการบริโภคภาครัฐยังสามารถขยายตัวได้ดีเ โดยขยายตัว 2.1%

ด้านการลงทุนในภาพรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.9% นำโดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร และการลงทุนในสิ่งก่อสร้างที่เร่งตัวขึ้นเป็น 3.4% และ 5.4% ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ 4.2% ชะลอลงจาก 4.9% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรโดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องบิน ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐยังคงนำโดยการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัว 9.9%

ทั้งนี้ อีไอซีได้ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2561 ลงเหลือ 4.2% จากเดิม 4.5% เนื่องตัวเลข GDP ไตรมาส 3/2561 ชะลอลงค่อนข้างมาก ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของการส่งออกสินค้า และการชะลอลงของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม อุปสงค์จากต่างประเทศในระยะต่อไปน่าจะมีการฟื้นตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3/2561

สำหรับด้านการส่งออกสินค้าของไทย อีไอซีมองว่ายังมีโอกาสขยายตัวได้ตามการค้าโลกที่ยังเติบโต แม้อัตราการเติบโตของการค้าโลกอาจไม่ได้อยู่ในระดับสูงเหมือนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 จากปัจจัยสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้อง และมีความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นในระยะถัดไป

ในส่วนของสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากการลดลงของนักเที่ยวจีนนั้น คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวและจะเห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนในตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/2562 เป็นต้นไป หลังภาครัฐได้ออกมาตรการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวแล้ว รวมถึงภาคการท่องเที่ยวไทยยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ที่ยังคงรักษาระดับการเติบโตได้ดีในไตรมาส 3/2561 ที่ 7.7%

ขณะที่การลงทุนในประเทศยังคงขยายตัวได้แม้การส่งออกชะลอตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในด้านอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศนอกเหนือไปจากการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในส่วนที่ได้อานิสงส์จากโครงการเมกะโปรเจกต์ด้านคมนาคมของภาครัฐที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เริ่มเห็นความสนใจจากภาคเอกชนชัดเจนมากขึ้น สะท้อนจากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นสูงมากกว่าเท่าตัวในช่วงครึ่งปีแรก และยอดการจดทะเบียนบริษัทที่เติบโตสูงขึ้นในเขต EEC ในกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าน่าจะเป็นการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง เช่น ธุรกิจอสังหาฯ การก่อสร้าง เป็นต้น