5 อันดับข่าวเด่นมิติหุ้น ภาคบ่าย

121

อันดับที่ 1 BPP เล็งแผนลงทุนโรงไฟฟ้าตปท.เข็นกำลังผลิตแตะระดับ4,300MW

ผู้สื่อข่าว ”มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ หรือ BPP โดยนายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า  บริษัทคาดกำไรก่อนหักภาษีและค่าใช้จ่าย(Ebitda) และรายได้ในปี 2562 จะเติบโตมากกว่า 2561 ซึ่งมีปัจจัยบวกจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ขายเชิงพาณิชย์(COD) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2,140 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,460 เมกะวัตต์ ในปี 2562 ซึ่งมาจาก โรงไฟฟ้า SLG 1 ขนาดกำลังการผลิต 198 เมกะวัตต์, โครงการ Luannan 3 ขนาดกำลังการผลิต 52 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 62 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าโซลาร์ ฟาร์มเพิ่มเติม โดยมองโอกาสการลงทุนในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศญี่ปุ่น จีน และไทย เป็นต้น โดยวางงบลงทุนไว้ที่ 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับต่ำเพียง 0.13 เท่า ซึ่งสามารถรองรับการลงทุนได้อีกมากในอนาคต

อันดับที่ 2 JWD ปั้นรายได้ปีหน้าโต 15-20% จากปีนี้ทะลุ 3 พันลบ. พร้อมเดินหน้าทำดีลธุรกิจฟู๊ด จบธ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าว ”มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ หรือ JWD โดยนายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า บริษัทฯมั่นรายได้ปีหน้าโต 15-20% จากปีนี้ที่มีโอกาสทำได้มากกว่าเป้าหมาย 3,000 ล้านบาท  นอกจากนี้บริษัทยังมองหาโอกาสและเจรจาพันธมิตรเพิ่มเติมในธุรกิจอาหารเพื่อหวังร้วมทุนดำเนินธุรกิจในจีนหรือฟิลิปปินส์ ซึ่งคาดว่าดีลดังกล่าวจะสามารถได้ข้อสรุปได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้

อันดับที่ 3 GL กางพอร์ตสินเชื่อแตะ 7.6 พันลบ. ตั้งเป้าปี 62 โตต่อเนื่อง ลุ้นกำไรแตะ 1 พันลบ. โหมปล่อยสินเชื่อในเมียนมาทะลุ 1 พันลบ. โต 50%

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. กรุ๊ปลีส หรือ GL การให้บริการทางการเงินและผู้ให้บริการดิจิทัลไฟแนนซ์แพลตฟอร์ม โดยนายทัตซึยะ โคโนชิตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2561 ยังคงมีกำไรทุกไตรมาส เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ และวางแผนงานให้บริษัทอยู่ในสถานะที่มั่นคงและดีที่สุดสำหรับการเติบโตและการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นในปี 2562 และเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ โดยในส่วนของเมียนมานั้น มีทั้งการปล่อยสินเชื่อลีสซิ่งและลูกค้ารายย่อย ปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อราว 700-800 ล้านบาท และปี 62 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 320 ล้านบาท พอร์ตรวมจะทะลุ  1,000 ล้านบาท เติบโตราว 50% จากปี 61 โดยในช่วงไตรมาส 3/61 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 102.40 ล้านบาท จากที่ขาดทุนสุทธิ 2,266.33 ล้านบาทในไตรมาส 3/60 ส่วนงวด 9 เดือนปี 61 กำไรสุทธิ 328.85 ล้านบาท จากขาดทุนสุทธิ 1,725.18 ล้านบาทในงวด 9 เดือนปี 60

อันดับที่ 4 BGC กำไรสุทธิ 9 เดือนแรก 341.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86%  บอร์ดอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลหุ้นละ 0.06 บาท

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส หรือ BGC BGC ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้ว โดยนายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ  เผยว่า ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปี 61 (ม.ค.-ก.ย.) มีกำไรสุทธิ 341.32  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 183 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าเติบโตอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หลังจากโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วแห่งใหม่ที่จังหวัดราชบุรีเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อย โดยมีเตาหลอมแก้วเพิ่มขึ้น 1 เตา จึงทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 400 ตันต่อวัน รวมเป็นประมาณ 3,495 ตันต่อวัน ส่งผลดีต่อการขยายตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เช่น ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งยังมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์แก้วอีกเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตรายใหญ่ในภูมิภาคนี้เพียงไม่กี่ราย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงและต้องมีความมั่นคงด้านแหล่งวัตถุดิบที่เพียงพอใช้ในการผลิต

อันดับที่ 5 BANPU คงเป้ารายได้ปีนี้โต 20% คาดงบ Q4/61 ทำได้ใกล้เคียง Q3/61 ลุยขายถ่านหินตามเป้า 45 ล้านตัน

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.บ้านปู หรือ BANPU โดยนางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการทั้งปี 61 ประเมินว่าจะมีรายได้ตามแผนอยู่ที่ระดับ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 20% จากฐานปี 60 โดยธุรกิจถ่านหินยังคงมีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาแก๊สยังปรับตัวสูงมาอยู่ที่ระดับ 4.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู จาก 10 เดือนที่ผ่านมา เคลื่อนไหวที่ระดับ 2.8-3.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างทำแผนการดำเนินธุรกิจในช่วง 5 ปี (64-68) เพื่อมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจไปสู่พลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าหมายในปี 68 บริษัทจะมีสัดส่วน EBITDA ที่มาจากธุรกิจถ่านหินลดลงเหลือ 44% จากปัจจุบันอยู่ที่ 60% ส่วนที่เหลือจะมาจากธุรกิจอื่นๆ  และอยู่ระหว่างการศึกษาแผนการลงทุนทำโรงไฟฟ้าที่ใช้แก๊สเป็นวัตถุดิบ ถือว่าเป็นการต่อยอด Supply Chain ของก๊าซธรรมชาติจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำ คาดเห็นความชัดเจนในแผน 5 ปี ดังกล่าว