ส่องประชุมกนง.สัปดาห์หน้า คาดคงดอกเบี้ยนโยบายหลังเงินเฟ้อขยับช้า

62

ขณะที่ผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ เป็นไปตามคาด โดยพรรคเดโมแครตได้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และพรรครีพับลิกันยังคงครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา บ่งชี้ถึงการคานอำนาจกันมากขึ้นและมีโอกาสน้อยลงที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะอัดฉีดมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพิ่มเติมนั้น สัปดาห์หน้าจะมีปัจจัยภายในประเทศที่น่าจับตามองเช่นกัน โดยในวันที่ 14 พฤศจิกายน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมเป็นครั้งรองสุดท้ายของปีนี้

ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หันมาใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) ตั้งแต่ปี 2543 โดยให้น้ำหนักไปที่การรักษาเสถียรภาพด้านราคาผ่านการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ ควบคู่ไปกับการดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยในปัจจุบันกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปของกนง. อยู่ในช่วงค่อนข้างกว้างที่ 1.0-4.0%

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น 1.23% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้และชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 (กราฟด้านล่าง) จากการลดลงของราคาผักสดเป็นสำคัญ ขณะที่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.15% ซึ่งแม้จะอยู่ในกรอบแต่ถือว่าปริ่มๆ บริเวณขอบล่าง

ยิ่งไปกว่านั้น ยอดส่งออกของไทยที่หดตัวผิดคาดในเดือนกันยายนยังสร้างความกังวลต่อแรงส่งในระยะถัดไปท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของการค้าโลกซึ่งผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับตัวในลักษณะซึมลงหลังการประกาศข้อมูลเงินเฟ้อเดือนล่าสุด บ่งชี้ถึงความไม่มั่นใจของตลาดอีกครั้งต่อจังหวะการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

แล้วเหตุใดเราจึงมองว่ากนง. จะคงดอกเบี้ยในครั้งนี้ไว้ที่ระดับ 1.50% ก่อนจะตัดสินใจปรับขึ้นในการประชุมเดือนธันวาคม 2561 ประเด็นที่เราให้ความสำคัญและเชื่อว่าผู้ดำเนินนโยบายต้องการดูแลเป็นพิเศษ แม้ว่าเงินเฟ้อซึ่งวัดโดยดัชนีราคาผู้บริโภคจะอยู่ในระดับต่ำ คือ ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบซึ่งเป็นผลของการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเป็นเวลานานเกินไป นำมาซึ่งพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยไม่ได้ประเมินความเสี่ยงที่แท้จริงจากการลงทุน

ประเด็นนี้เราพบว่า กนง.ได้กล่าวถึงหลายหนในแถลงการณ์หลังการประชุม ขณะที่ผู้ดำเนินนโยบายแสดงความเห็นว่าเงินเฟ้อที่ระดับต่ำสะท้อนปัจจัยเชิงโครงสร้างมากกว่าวัฎจักรเศรษฐกิจซึ่งฟื้นตัวต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ ทางการต้องการรักษา Policy Space เพื่อให้มีกระสุนรับมือกับกรณีเกิดสถานการณ์ที่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง

โดย รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)