KTB ไม่หวั่นโบรกฯหั่นกำไรลง ย้ำเดินหน้าลงทุนไอทีปีละหมื่นลบ.หนุนโตแกร่งระยะยาว

100

มิติหุ้น – KTB ไม่หวั่นโบรกฯ หั่นกำไรปีหน้า หลังลุยลงทุนไอทีปีละ 1.2 หมื่นลบ. ย้ำเน้นสร้างกำไรโตยั่งยืน ล่าสุดเตรียมวงเงินกว่า 1 หมื่นลบ. รองรับปล่อยสินเชื่อกลุ่ม SMEs

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB โดยนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า จากกรณีที่นักวิเคราะห์ปรับประมาณกำไรธนาคารปีหน้าลง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายทางด้านไอทีปีละ 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น ขอยืนยันว่า ธนาคารเน้นสร้างกำไรอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยการที่นักวิเคราะห์ออกมาระบุ ถือว่าเป็นมุมมองระยะสั้น ธนาคารอยากให้มองในระยะยาว ซึ่งธนาคารต้องมีการลงทุน เพราะอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจการเงินมากขึ้น ทำให้ธนาคารต้องปรับตัวเพื่อการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์ของธนาคารที่ต้องการเป็น Invisible bank ที่ลูกค้าสามารถใช้บริการได้ทุกที่ ทุกเวลา

“เราต้องลงทุน ซึ่งงบไอทีเราตกปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท ถ้าไม่ทำ เราก็แข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ และในยุคนี้ที่เป็นยุค NEW NORMAL ต้องหาอะไรใหม่ๆ เข้ามา เพราะปัจจุบันโครงสร้างกรุงไทย NPL โตแซงสินเชื่อไปแล้ว และตอนนี้มีกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เข้ามา เช่น IFRS 9 และบาเซิล 3 ทำให้ธนาคารต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยง พยายามสร้างผลตอบแทนให้สูงขึ้น รวมทั้งควบคุมต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม” นายผยง กล่าว

ล่าสุด ธนาคารได้ร่วมมือกับ บสย. ต่อยอดธุรกิจ SME ไทย ซึ่งธนาคารได้ออก 5 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อสำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs ประชารัฐและนโยบายรัฐวงเงินค้ำประกันรวมเป็น 1 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบัน บสย.ได้อนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการดังกล่าวรวม 477 ราย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อกว่า 291 ล้านบาท ณ วันที่ 2 พ.ย. 61 โดยบสย.ยังมีโครงการค้ำประกันสินเชื่ออื่นๆ ผ่านสินเชื่อธนาคารกรุงไทยอีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับ SMEs นิติบุคคลบัญชีเล่มเดียว โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs รายเล็ก วงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับ SMEs ทั่วไป

สำหรับพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีโครงการค้ำประกันสินเชื่อของบสย.ที่ร่วมกับธนาคารกรุงไทย มีสินเชื่อคงค้างรวมในปัจจุบันที่ 5.54 หมื่นล้านบาท และ ในปีนี้ถึงปัจจุบันได้ปล่อยสินเชื่อในโครงการดังกล่าวไปแล้ว 8.3 พันล้านบาท โดยที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) น้อยกว่า 10% ซึ่งบสย.ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อทั้งหมดในปีนี้ 1 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทำได้ใกล้เคียงเป้าหมาย โดยปัจจุบันบสย.ได้ค้ำประกันสินเชื่อไปแล้ว 9.6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ธนาคารคาดการปล่อยสินเชื่อ SMEs โครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการบสย.จะปล่อยได้เกิน 2 หมื่นล้านบาท ในสิ้นปี 62 จากต้นปี 61 ที่ 1 หมื่นล้านบาท โดยที่ปัจจุบันธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อในโครงการดังกล่าวไปแล้ว 4 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ จำนวน 3 พันราย โดยปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยกว่า 1 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4-5.5% ต่อปี โดยในช่วง 2 ปีแรกคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ และ ปีที่ 3 เป็นต้นไปคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ตาม MRR ที่ธนาคารกำหนด และ ตามอุตสาหกรรมของลูกค้า ซึ่งอายุเฉลี่ยสัญญาอยู่ที่ 7-12 ปี

ในส่วนของพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารสิ้นปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมาย 3.5 แสนล้านบาท โดยที่ปัจจัยผลักดันเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอีในขนาดเล็กและขนาดกลางที่เติบโตได้ 5% โดยที่สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี แบ่งเป็น 60% เป็นสินหมุนเวียน และ 40% เป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุน

www.mitihoon.com