KTAMลั่นฆ้องขายกองAI คัดหุ้นเด่นทั่วตลาดใส่พอร์ต’KT-Brain’

144

มิติหุ้น – บลจ.กรุงไทย ได้ฤกษ์เสิร์ฟนวัตกรรมการลงทุนใหม่ เปิดขายกองทุน “KT-BRIAN” ใช้ AI เลือกหุ้นเด็ด 40-50 ตัว มุ่งสร้างผลตอบแทนเหนือ SET เคาะ IPO วันที่ 2-11 ตุลาคม นี้

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เปิดเผยว่า บริษัทเสนอขายครั้งแรก (IPO) กองทุนเปิดกรุงไทย เอไอ เบรน (KT-Brain) ในวันที่ 2-11 ตุลาคม 2561 มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท เงินลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท นโยบายเน้นลงทุนหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( SET) และหรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ( MAI) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

คัดเลือหุ้นน้ำดี 40-50 ตัวเข้าพอร์ต

โดยกองทุนจะคัดเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุน ผ่านโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทจัดการในการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ Artificial intelligence (AI) ในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานจากข้อมูลทางการเงินเป็นรายบริษัท หลังจากนั้นระบบจะทำการคัดเลือกหลักทรัพย์ประมาณ 40-50 ตัว และจัดพอร์ตการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนโดยรวมให้เหนือกว่าดัชนีอ้างอิง (SET Total Return )

ทั้งนี้ ระบบจะทำการคัดเลือกหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และ/หรือตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ที่มีจำนวนรวมประมาณ 731 หลักทรัพย์โดยการคัดเลือกหุ้นจากข้อมูลอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ที่จะส่งผลต่อราคาหุ้น เช่น อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร อัตราส่วนสภาพคล่อง และอัตราส่วนประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เป็นต้น
โดยระบบจะทำการหาหลักทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างการเติบโตที่ดีให้กับเงินลงทุนเป็นหลัก

แบ็คเทสต์ย้อนหลัง5ปียิลด์63.99%

สำหรับระบบ AI นอกจาก0tมีความรวดเร็วในการวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทต่างๆ ได้รวดเร็วกว่ามนุษย์ และยังสามารถขจัดเรื่องอารมณ์ในการตัดสินใจได้อีกด้วย โดยบริษัทได้มีการทำโมเดลจำลองการลงทุน และทำการแบบจำลองการลงทุน (Back Test) ย้อนหลัง 5 ปี (กรกฎาคม 2556 – มิถุนายน 2561) กองทุนสามารถให้ผลตอบแทนรวมที่
63.99% SET TRI อยู่ที่ 29.13% และ SET อยู่ที่ 9.90%

อย่างไรก็ตามผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อหลักทรัพย์ น้ำหนักการลงทุน รวมไปถึงรายการซื้อขายที่ได้มาจากระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนและเป็นไปตามกฎเกณฑ์การลงทุน แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้น ผู้จัดการกองทุนสามารถเข้าไปแทรกแซงระบบได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารความเสี่ยงของกองทุนเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น การปรับระดับการสำรองเงินสดให้เหมาะสมเพื่อรองรับการขายคืนในกรณีที่มีเหตุการณ์ที่ทำให้นักลงทุนต้องการถือครองเงินสด