สงครามการค้าระอุ สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้านำเข้าจีนเพิ่ม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

574
  • วันที่ 18 กันยายน 2018 รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศจะเก็บภาษีนำเข้า (import tariff) สินค้าจากจีนมูลค่ารวม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อัตรา 10% โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 กันยายน 2018 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% ในวันที่ 1 มกราคม 2019 จำนวน 5,745 รายการ (ลดลงจากรายการเดิมที่ 6,031 รายการ) คิดเป็นมูลค่าราว 8.3% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ ในปี 2017 ซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าที่ไม่เป็นธรรมของประเทศคู่ค้าตามมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (Trade Act of 1947)

 

  • ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนเตรียมตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในลักษณะคล้ายกันมูลค่ารวม 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อัตรา 5-25% (อาจปรับลงเหลือ 5-10% ภายหลัง) จำนวน 5,207 รายการ คิดเป็นมูลค่าราว 3.3% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของจีนในปี 2017 ซึ่งจะมีผลทันทีหลังสหรัฐฯ บังคับใช้การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน

 

  • อีไอซีปรับผลกระทบของสงครามการค้าต่อการส่งออกไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยคาดว่าอาจมีผลกระทบมูลค่าการส่งออกราว 1.1% เป็น 6.1% ของมูลค่าการส่งออกรวม สงครามการค้ามีแนวโน้มกระทบห่วงโซ่การผลิตและการค้าโลกมากขึ้น รวมถึงผลกระทบต่อการส่งออกไทยจะเริ่มชัดเจนมากขึ้นโดยเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีน ช่วงครึ่งแรกปี 2018 ปริมาณการค้าโลกเริ่มชะลอเล็กน้อยตามการเติบโตในหลายประเทศที่เริ่มชะลอลง ทั้งนี้ การค้าโลกยังได้รับปัจจัยลบเพิ่มเติมจากภาวะสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าผลกระทบการตั้งกำแพงภาษีขนานใหญ่จะจำกัดอยู่เฉพาะสหรัฐฯ และจีน แต่ผลกระทบสงครามการค้าได้ส่งผ่านทางการเชื่อมโยงการค้าในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะการค้าในสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางกับจีนที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากขึ้น ทั้งนี้ ไทยมีบทบาทค่อนข้างสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของจีน และจะได้รับผลกระทบมากหากการส่งออกจีนชะลอตัว ดังนั้น เมื่อนับรวมการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในรอบนี้ อีไอซีได้ปรับผลกระทบของสงครามการค้าต่อการส่งออกไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยคาดว่าจะกระทบมูลค่าการส่งออกราว 1.1% เป็น 6.1% (รูปที่ 5) ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนนี้เป็นการสะท้อนเพดานความเสี่ยงด้านสูง เนื่องจากสมมติว่าไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีนในสินค้าดังกล่าวไม่ได้เลยและไม่สามารถหาตลาดทดแทนได้ โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่สินค้าขั้นต้นและขั้นกลางที่อยู่ในสายการผลิตของจีน อาทิ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง และไม้ สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกจากสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนนั้นผลกระทบต่อการส่งออกไทยผ่านห่วงโซ่การผลิตจีนยังจำกัด แต่คาดว่าผลกระทบจะเริ่มชัดขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ถึงปีหน้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องสำหรับผู้ประกอบการที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีน สำหรับผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าอื่นของสหรัฐฯ ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี เริ่มส่งผลกระทบบางส่วนต่อการส่งออกไทย จากรายงานข้อมูลการส่งออกไทย ณ เดือนกรกฎาคม พบว่ามูลค่าการส่งออกหมวดเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์ลดลง 24.9%YTD และ 64.6%YTD ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมยังขยายตัว 0.53%YTD และ 30.5%YTD ตามลำดับ และมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง 1.9%YOY

 

  • ผลลบต่อการส่งออกไทยปีนี้จำกัดแม้เริ่มมีความเสี่ยงสูงขึ้น ในอีกด้าน สงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนอาจส่งผลบวกทางอ้อมจากการย้ายฐานการผลิตบางส่วนเข้ามาในไทย รวมถึงโอกาสในการส่งออกบางสินค้าเพิ่ม ด้านการย้ายฐานการผลิตโดยเฉพาะผู้ผลิตจีนเริ่มมีแนวโน้มพิจารณาย้ายสายการผลิตบางส่วนเข้ามาในไทย และใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกเพื่อลดผลกระทบ นอกจากนี้ ผู้ผลิตจากจีนและสหรัฐฯ อาจมองหาแหล่งนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทดแทนเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้า ไทยจึงมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าทดแทนไปยังสหรัฐฯ และจีน หากทั้ง 2 ประเทศลดการค้าระหว่างกัน และหันมานำเข้าสินค้าจากไทยบางส่วนเพิ่ม โดยเฉพาะสินค้าสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าขั้นกลาง อาทิ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ชิ้นส่วนยานยนต์บางส่วน ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้เพื่อการส่งออกบางชนิด เป็นต้น ด้วยภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าโลกในภาพรวมที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี อีไอซีมองการส่งออกไทยในปีนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตได้สูงที่ราว 8.5%YOY และผลกระทบทางลบส่งผลเฉพาะรายสินค้าที่ได้รับกระทบโดยตรง อาทิ เครื่องซักผ้า แผงโซลาร์ เหล็กและอะลูมิเนียม และสินค้าขั้นต้นที่ส่งออกไปจีนบางส่วนเพื่อการขึ้นรูปและประกอบเพื่อส่งออกต่อ เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยาง และไม้ เป็นต้น

 

  • จับตาความเสี่ยงไทยอาจถูกตัด GSP สืบเนื่องจากภาวะสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงและการสอบสวนที่เข้มงวดจากทางการสหรัฐฯ แม้ว่าเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2018 สหรัฐฯ ได้ต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้ไทยไปจนถึงสิ้นปี 2020 แต่สภาผู้ผลิตสุกรแห่งชาติของสหรัฐฯ (National Pork Producers Council) ได้ยื่นเรื่องให้สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) พิจารณาจำกัดหรือตัดสิทธิ GSP ของไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2018 เนื่องจากไทยกีดกันการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ เพราะตลาดเนื้อหมูในสหรัฐฯ เป็นอุตสาหกรรมหลักในภาคเกษตรและมีความสำคัญต่อเกษตรกรสหรัฐฯ ทั้งนี้ ไทยได้ประโยชน์จาก GSP สูงรวมมูลค่าราว 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2017 ด้วยภาวะสงครามการค้าที่มีความตึงเครียดมากขึ้นและการสอบสวนที่เข้มงวดของทางการสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา อีไอซีมองว่าไทยอาจยังมีความเสี่ยงที่จะถูกตัดสิทธิ GSP ได้บางส่วน ทั้งนี้ ในปี 2017 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสาเหตุการขาดดุลทางการค้าและข้อเรียกร้องขอให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูของสหรัฐฯ อาจถูกหยิบยกมาเป็นข้อเจรจารวมถึงข้อต่อรองการตัดสิทธิหรือต่อ GSP ของไทยในระยะต่อไปได้

 

  • ความผันผวนในตลาดการเงินโลกโดยเฉพาะเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มกระทบค่าเงินบาทได้ระยะต่อไป แม้ว่าตลาดการเงินโลกจะตอบสนองน้อยลงต่อมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ แต่ความเสี่ยงยังคงมีอยู่ต่อเนื่องหากการเจรจาไม่ประสบผลหรือมีการประกาศการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากจีนและประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดภาวะตลาดปิดรับความเสี่ยง (risk-off sentiment) ต่อตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยได้อย่างฉับพลัน อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกไทยมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับสินค้าเทคโนโลยีของจีนที่ได้รับผลกระทบไม่มากเท่าไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ประกอบกับฐานะทางการเงินไทยยังแข็งแกร่งและผลกระทบต่อการส่งออกไทยยังคงจำกัดในปีนี้ อีไอซีประเมินค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงมีความผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคและคาดค่าเงินบาทอยู่ในช่วง 32-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2018

ที่มา : Economic Intelligence Center (EIC) ธ.ไทยพาณิชย์

www.mitihoon.com