Valuation เริ่มตึง รอปัจจัยกระตุ้นใหม่ๆถึงจะกลับขาขึ้นได้  

269

ภาวะตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมาตลอดทั้งสัปดาห์แกว่งตัวในกรอบที่เราประเมินไว้ 1680 – 1720 จุด พร้อมทั้งปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนยังอยู่ในโหมดของการ Wait&See รอความชัดเจนของประเด็นข่าวสารต่างๆ ในขณะที่ Valuation ตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันที่เริ่มตึงตัว โดยภายหลังการรายงานผลการดำเนินงาน 2Q61 เสร็จสิ้น Consensus ทำการปรับลดประมาณการ EPS หุ้นไทยลงเล็กน้อย (ล่าสุด 107.9 บาท/หุ้น จากต้นปี 2561 ที่ 110 บาท/หุ้น) ในทางกลับกันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 5 – 10 ปี กลับเร่งตัวขึ้น สะท้อนการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของที่ประชุม กนง ล่าสุด ทำให้เราประเมินว่าในภาวะเช่นนี้ อาจทำให้ตลาดหุ้นมีการแกว่งตัวได้แรง โดยเฉพาะจากข่าวสารด้านลบ อาทิ

  1. สงครามการค้าระหว่างจีน – สหรัฐฯที่ยังไม่ได้ข้อสรุป แม้ว่าจะมีการพยายามเจรจากันในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม เราประเมินน่าจะยังมีการเจรจากันอีกครั้งในอนาคต แต่มีความเสี่ยงที่อาจจะไม่ทันเส้นตายของการบังคับใช้มาตรการทางภาษีระหว่างกันก็เป็นไปได้
  2. การปรับน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นจีนของ MSCI สิ้นเดือน ส.ค.นี้ (เฟสที่ 2) แม้เราจะประเมินว่าเม็ดเงิน Fund flow จากการปรับน้ำหนักการลงทุนของ MSCI ในรอบนี้ จะมีผลน้อยกว่าเฟสแรก (เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา) แต่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยจะยังคงรอดูผลของการปรับน้ำหนักให้เสร็จสิ้นก่อนก็เป็นได้ อย่างไรก็ดีการจัดงาน ไทย์แลนด์โฟกัสในช่วงสัปดาห์นี้ อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยถ่วงดุลดึงเม็ดเงิน Fund flow กลับก็เป็นได้เช่นกัน

แม้ว่าปัจจัยต่างประเทศจะยังคงกดดันบรรยากาศการลงทุนโดยรวมอยู่บ้างก็ตาม แต่เราคาดจะมีปัจจัยบวกด้านการเมืองในประเทศ ที่จะช่วยถ่วงดุลข่าวสารด้านลบจากต่างประเทศได้บ้าง คือ การคลายล๊อกพรรคการเมือง ให้สามารถจัดกิจกรรมการเมืองได้ โดยคาดว่าที่ประชุม คสช จะทำการพิจารณาในสัปดาห์นี้

เมื่อสรุปรวมปัจจัยต่างๆข้างต้นจะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ส.ค. ยังคงมีโอกาสผันผวนได้ตลอดจนกว่าข้อมูลข่าวสารต่างๆจะเริ่มมีความชัดเจนมากกว่านี้ เรายังประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีในสัปดาห์นี้ไว้ที่ 1680 – 1720 จุด

เราแนะนำจังหวะตลาดผันผวน ลบสลับบวก จะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อหุ้นพื้นฐานดีกำไรเติบโต / มีสตอรี่การลงทุนที่ชัดเจน ในช่วงที่ตลาดย่อตัวลงมา กลุ่มที่น่าสนใจได้แก่ i) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (กำไรพ้นจุดต่ำสุด + ดอกเบี้ยขาขึ้น) KBANK, BBL, SCB, KTB / ii) กลุ่มค้าปลีก (การบริโภคในประเทศฟื้น + ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง) CPN, COM7, GLOBAL / iii) กลุ่มนิคมฯ (ธีม EEC) AMATA, WHA / iv) กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี (ราคาพลังงานยืนสูง + Spread บางชนิดยืนสูง) SGP, IVL, BANPU เป็นต้น

โดยสุโชติ ถิรวรรณรัตน์

ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)