กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.10-33.40 จับตากนง. ส่งสัญญาณดอกเบี้ย 

46

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.10-33.40 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 33.35 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 3.9 พันล้านบาทและ 2.4 พันล้านบาท ตามลำดับ  ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลงมติตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในช่วง 1.75-2.00% ตามคาดและประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในเชิงบวกมากขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ยืนยันว่าจะรักษาดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำมากต่อไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 0.75% ตามความคาดหมายของตลาด แต่ส่งสัญญาณจะไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก ขณะที่ยังขาดความชัดเจนเรื่อง Brexit

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตัวเลขจ้างงานเดือนกรกฎาคมของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ท่าทีจากการประชุมครั้งล่าสุด เฟดคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกสองครั้งในปีนี้ ขณะที่ตลาดสัญญาล่วงหน้าบ่งชี้ว่ามีโอกาสสูงกว่า 90% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกันยายนและมีโอกาส 70% ที่จะปรับขึ้นอีกในเดือนธันวาคมโดยเฟดยังคงมีอิสระในการกำหนดนโยบายการเงิน แม้ประธานาธิบดีทรัมป์เคยวิจารณ์การขึ้นดอกเบี้ย อนึ่ง เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงในปี 2562 ขณะที่แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังกำลังหมดไป นอกจากนี้ นักลงทุนจะติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงตลาดพันธบัตรอิตาลี

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในวันที่ 8 สิงหาคม ด้วยเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ และเป็นอีกครั้งที่น่าสนใจว่า กนง.จะส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไปเพื่อสร้าง Policy Space หรือขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายไว้สำหรับเวลาที่จำเป็นหรือไม่ โดยเรายังคงมองว่าดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสปรับขึ้นสู่ระดับ 1.75% ช่วงปลายปีนี้ ส่วนรมว.คลังแสดงความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสเติบโตถึง 5% หากเอกชนเร่งการลงทุน และมองว่าสงครามการค้ายังไม่กระทบการส่งออกไทยในปีนี้โดยอาจจะเริ่มเห็นผลกระทบบ้างในปี 2562 แต่ระบุว่ายังไม่เห็นความจำเป็นที่ดอกเบี้ยนโยบายจะต้องปรับขึ้นภายในปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่ขอบล่างของกรอบเป้าหมายมา 4 เดือนติดต่อกัน แต่ยังไม่ถึงค่ากลางของกรอบซึ่งกำหนดไว้ที่ 2.5%

www.mitihoon.com