กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-33.50 มองเฟดคงดอกเบี้ยนโยบาย 

85

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-33.50  ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 33.30 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  ขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 4.9 พันล้านบาทและ 8.2 พันล้านบาท ตามลำดับ   โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับเงินเยน ส่วนเงินยูโรเผชิญแรงกดดันหลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ย้ำว่าจะตรึงดอกเบี้ยต่อไปอย่างน้อยจนถึงฤดูร้อนของปี 2562 อย่างไรก็ตาม คาดว่าบรรยากาศการซื้อขายจะเป็นไปอย่างระมัดระวังก่อนการประชุมธนาคารกลางหลักหลายแห่งในสัปดาห์นี้

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า  แม้ตลาดได้ปรับตัวรับข่าวเชิงลบเกี่ยวกับสงครามการค้าโลก และกระแสเงินทุนเริ่มไหลกลับเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ แต่เงินทุนไหลเข้ารอบใหม่จะต่อเนื่องหรือไม่นั้นยังคงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยตลาดจะให้ความสนใจกับผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) วันที่ 30-31 กรกฎาคม หลังมีสัญญาณว่าบีโอเจอาจจะหารือเรื่องการปรับรายละเอียดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งน่าจะสร้างความผันผวนให้กับค่าเงินเยนและตลาดพันธบัตรทั่วโลก ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประชุมวันที่ 31 กรกฎาคม-1 สิงหาคม และคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ แต่น่าจะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้อีกสองครั้งตามที่เคยให้แนวทางไว้ และตลาดจะจับตาการประเมินภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ รวมถึง ความเสี่ยงที่เส้นอัตราผลตอบแทนอาจจะลาดลงจากซ้ายไปขวา หรือ Inverted Yield Curve ซึ่งมักบ่งชี้ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ  นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ในช่วงท้ายสัปดาห์จะเป็นปัจจัยชี้นำการลงทุนเช่นกัน ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) อาจตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 2 สิงหาคม

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปเดือน กรกฎาคม จะเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน คาดว่าจะทรงตัว โดยเรายังคงประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะสื่อสารกับตลาดอย่างชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.50% สู่ระดับ 1.75% ก่อนสิ้นปีนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่งกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแต่อยู่ในทิศทางฟื้นตัว อีกทั้งปัจจัยอื่นๆ ซึ่งเราเชื่อว่าทางการจะให้ความสำคัญ คือ ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพจากการตรึงดอกเบี้ยในระดับต่ำมากเป็นระยะเวลานานเกินไป ขณะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างกระจายตัวมากขึ้น

www.mitihoon.com