กกพ.เตรียมพิจารณาบทบาทตัวเองหลังจากโดดบีบ เตรียมแก้ไขกฎหมายลดขั้นตอนขอผลิตไฟฟ้า เร่งโครงสร้างค่าไฟฟ้า อัตราจัดเก็บค่าสำรองระบบไฟฟ้าใหม่

165

นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.จะนำข้อคิดเห็นของรมว.พลังงานมาหารือกันภายในว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้

อย่างไรก็ตามถ้ายึดตามกฎหมายประกอบกิจการพลังงาน ในมาตรา 17 ระบุว่าการดำรงตำแหน่งของกรรมการกกพ.มีวาระ 6 ปี และให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว โดยวาระเริ่มแรกครบกำหนด 3 ปี ให้กรรมการออกจากตำแหน่ง 3 คนโดยวิธีการจับสลาก ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็ได้สอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้รับคำตอบว่าตามกฎหมายวาระเริ่มแรก หมายถึงคณะกรรมการชุดแรกที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งได้มีการจับสลากไปแล้วในกรรมการชุดแรก ขณะที่กรรมการชุดนี้เป็นชุดที่ 3 ทำให้ไม่ต้องจับสลากตามกฎหมาย แต่คณะกรรมการชุดนี้ได้มาโดยการแต่งตั้งจากคสช.ซึ่งนับเป็นกฎหมายอีกฉบับ ซึ่งก็ต้องนำมาร่วมประกอบการพิจารณาด้วย

นอกจากนี้แล้วยังอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกระบบและหลักเกณฑ์ การขออนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้าจากเดิมผู้ประกอบการจะต้องยื่นขออนุญาตกับทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงาน กกพ.นั้น มาเป็นการยื่นขออนุญาตกับสำนักงาน กกพ.ที่เดียวแทน พร้อมกับจะลดจำนวนใบอนุญาตให้เหลือเพียง 1 ประเภท จากเดิมที่มี 4 ประเภท

ส่วนการประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟใหม่ปี 61-63 คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้ ส่วนอัตราค่าไฟพิเศษต่าง ๆ คาดว่าจะประกาศได้ในต้นปี 62  ซึ่งจะครอบคลุมถึงการประกาศหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการพิเศษ อัตราค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน (Wheeling Charge) ค่าไฟฟ้าตามหมู่เกาะ และอัตราค่าบริการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงการทบทวนค่าบริการระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) เพื่อรองรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าแบบผลิตเองใช้เอง (Isolated Power Supply: IPS) ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 2,600 เมกะวัตต์