BEAUTY – SPALI การซื้อหุ้นที่แตกต่างกัน

497

จะเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ สำหรับ “การซื้อหุ้น” ของบริษัทจดทะเบียนที่มาไล่เลี่ยกัน อย่าง บมจ. บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY กับ บมจ. ศุภาลัย หรือ SPALI แต่เหตุแห่งการซื้อหุ้นของทั้ง 2 บจ.นี้ มีความแตกต่างกัน

BEAUTY  เป็นการ “ซื้อหุ้นคืน” หลังจากที่ราคาหุ้นรูดต่ำลงมาก โดย นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BEAUTY ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2561 ได้มีมติอนุมัติ โครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน วงเงินสูงสุดที่จะใช้ในการซื้อหุ้นคืน 950 ล้านบาท จำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนไม่เกิน 64 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.13% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยซื้อในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โดยมีกำหนดระยะเวลาที่จะซื้อหุ้นคืน ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.61 ถึงวันที่ 23 ม.ค.62  ขณะที่ราคาซื้อคืนจะไม่เกินกว่าราคาปิดของหุ้นเฉลี่ย 5 วันทำการซื้อขายก่อนหน้าวันที่ทำการซื้อขายแต่ละครั้ง บวกด้วยจำนวน 15% ของราคาปิดเฉลี่ยดังกล่าว ทั้งนี้ ราคาหุ้นเฉลี่ยย้อนหลัง 30 วัน ตั้งแต่ 25 พ.ค.61-6 ก.ค.61 เท่ากับ 14.81 บาทต่อหุ้น (ราคาปิดเฉลี่ยย้อนหลัง)

ขณะที่ทางฝั่ง SPALI โดยนางวารุณี ลภิธนานุวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการและเลขานุการบริษัท แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 10 ก.ค. มีมติให้ บริษัท ศุภาลัย พรอพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SPM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นอยู่ 99.99% ทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด 100% หรือจำนวน 992.01 ล้านหุ้น ใน บมจ.มั่นคงเคหะการ หรือ MK โดยสมัครใจ (Voluntary Tender Offer) ในราคาหุ้นละ 4.10 บาท รวมเป็นมูลค่าประมาณ 4.07 พันล้านบาท

โดยมีเงื่อนไขว่า SPM จะทำการยกเลิกคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด หากเมื่อสิ้นสุดระยะเวลารับซื้อแล้ว มีผู้เสนอขายหุ้นจำนวนน้อยกว่า 25% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ MK

เหตุผลที่ SPALI สนใจในการทำ Voluntary Tender Offer  หุ้น MK นั้น นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการ ระบุว่า เนื่องจาก MK เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินธุรกิจที่ต่างไปจากที่ SPALI ดำเนินการอยู่ อาทิเช่น คลังสินค้า ธุรกิจสนามกอล์ฟ เป็นต้น และมีที่ดิน Land Bank หลายแปลงอยู่ในทำเลที่ดี  มีต้นทุนที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับราคาที่ดินในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะพัฒนาให้เติบโตในอนาคต อีกทั้งเป็นการขยายการลงทุนไปในทำเลหรือกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างจากโครงการของ SPALI

จึงมั่นใจได้ว่า การทำ Voluntary Tender Offer ครั้งนี้ จะทำให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจแบบ WIN-WIN 

ต้องดูกันยาวๆ ว่า ท้ายสุดแล้ว ดีลไหนจะ WIN-WIN กว่ากัน

                                                                                    “บิ๊กเซ็ต”