อัพเป้าเศรษฐกิจ..แต่ยังสุ่มเสี่ยง

103

ดัชนีหุ้นไทยยังเตาะแตะอยู่แถว ๆ 1,620 จุด บวกลบเล็กน้อย ท่ามกลางแรงกดดันจากปัจจัยลบ โดยเฉพาะสงครามการค้าที่กำลังกลายพันธุ์เป็น “สงครามการเงิน” รวมทั้งแรงกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ

นักลงทุนต่างชาติ เทขายหุ้นไทยออกอย่างหนัก จบครึ่งปี ขายสุทธิกว่า 1.8 แสนล้านบาท ส่งผลต่อเนื่องไปยัง “เงินบาท” อ่อนค่าลงต่อเนื่อง จากที่แข็งค่าสุดเกือบหลุด 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นปี กลับมาอ่อนค่าลง มาอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์กว่า ในช่วงหลายเดือน มิ.ย.ถึงขณะนี้

เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ขยายตัว 4.8% สูงสุดในรอบ 5 ปี และเติบโตมากกว่าที่ตลาดและนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.9% ส่งผลให้สภาพัฒน์ฯ ปรับเพิ่มประมาณเศรษฐกิจไทยปี 2561 จากเดิม 3.6-4.6% เป็นคาดว่าจะเติบโต 4.2-4.7%

ล่าสุด คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ปรับจีดีพีไทยปี 2561 ขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าจะโต 4.3-4.8% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 4.0-4.5% ขณะที่การส่งออก คาดว่าจะเติบโต 7.0-10.0% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 5.0-8.0% ส่วนเงินเฟ้อ จะอยู่ที่ 0.9-1.5% จากเดิม 0.7-1.2%

ขณะที่ช่วงปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี รวมทั้งได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปี 2561 เป็น 4.4% จากเดิม 4.1% และปรับเพิ่มจีดีพีปี 2562 เป็นเติบโต 4.2% จากเดิม 4.1%

เนื่องจาก กนง. มองว่าการส่งออกในปีนี้จะเติบโตสูงถึง 9% ดีกว่าที่เดิมที่เคยคาดไว้ที่ 7.0% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และคาดว่าการส่งออกในปี 2562 จะเติบโตในอัตราชะลอตัวที่ระดับ 5% แต่สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ 3.6%

โดย กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง และสูงกว่าที่ประเมินไว้เดิม  ตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่มีแรงส่งเพิ่มขึ้น ภาวะการเงินโดยรวม ยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี

แม้หลายฝ่ายจะมองว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ละล่าใจ เพราะปัจจัยเสี่ยง ยังกดดันรอบด้าน

                                                                                    “บิ๊กเซ็ต”