อีซีบีช็อคตลาด เงินทุนไหลออกทุบค่าบาท

136

การประชุมธนาคารกลางรอบล่าสุดของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย หลังสิ้นสุดการประชุมวันที่ 13 มิถุนายน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 7 ของวัฎจักรตามคาด อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกตลาดไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการส่งสัญญาณของเฟดเกี่ยวกับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยอีกถึง 2 รอบในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนเฝ้ารอผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งจะประกาศออกมาไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังการประชุมเฟด โดยตลาดเกรงว่าอีซีบีอาจแสดงท่าทีหนักแน่นต่อการลดโครงการซื้อพันธบัตร (QE) รวมถึงระบุช่วงเวลาที่แน่นอนของการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างที่ตลาด (และเรา) ประเมินไว้ ถึงแม้ว่าอีซีบีกล่าวว่าจะยุติมาตรการ QE ก่อนสิ้นปีนี้ตามคาด แต่อีซีบีกลับส่งสัญญาณว่าต้องใช้เวลาอีกนานก่อนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยอีซีบีตั้งใจเลือกคำที่ว่าดอกเบี้ยจะทรงตัวจนถึงสิ้นสุดฤดูร้อนปี 2562 เป็นอย่างน้อย ซึ่งล่าช้ากว่าที่นักลงทุนเคยคาดไว้ราว 3 เดือน ยิ่งไปกว่านั้น การสื่อสารกับตลาดสะท้อนว่ากำหนดการนี้เป็นกำหนดการปลายเปิด มีความยืดหยุ่นสำหรับการเลื่อนเวลาปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกออกไปได้อีก ทั้งนี้ นายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี ซึ่งจะครบวาระในเดือนตุลาคม 2562 ไม่เคยตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลยตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อกว่า 6 ปีก่อน ในเชิงจิตวิทยาท่าทีดังกล่าวบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อจังหวะเวลาของการขึ้นดอกเบี้ยในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

สัญญาณเลื่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยของอีซีบี ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของเฟดในระยะสั้น ส่งผลให้เงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง และฉุดสกุลเงินต่างๆ รวมถึงเงินบาทให้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ด้วย เงินบาทกลับไปซื้อขายที่ระดับอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ขณะที่สกุลเงินอื่นๆ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน โดยเงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องในระยะสั้นท่ามกลางการปรับพอร์ตของนักลงทุนต่างชาติซึ่งโยกเงินออกจากสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่

ขณะที่ดอลลาร์กำลังได้แรงหนุนจากปัจจัยบวกเชิงวัฎจักร นั่นคือ เฟดมีความชัดเจนมากที่สุดเกี่ยวกับทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบเชิงโครงสร้างสำหรับค่าเงินดอลลาร์ซึ่งดูเหมือนว่าตลาดยินดีมองข้ามไปชั่วคราว อาทิ การขาดดุลทั้งบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะย่ำแย่ลง

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสนใจว่าเราอาจได้ยินความเห็นเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนจากประธานาธิบดีทรัมป์ในไม่ช้า เพราะเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าถือเป็นอุปสรรคต่อนโยบายและการบรรลุเป้าหมายด้านการค้าของสหรัฐฯ ท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ เราประเมินว่าขาขึ้นของเงินดอลลาร์จากระดับปัจจุบันจะถูกจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากธนาคารกลางแห่งอื่นๆ นอกสหรัฐฯ เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดมาไกลเกินครึ่งทางของวัฎจักรแล้ว

โดยรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)