รวมพลัง 3 การไฟฟ้าเปิดตัวมาตรการอนุรักษ์พลังงานสำหรับผู้ผลิตและจำหน่าย ตั้งเป้าประหยัดไฟฟ้าให้ถึง 206 ล้านหน่วย ในระยะเวลา 5 ปี

118

มิติหุ้น-การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดตัวการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานสำหรับผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงาน พร้อมจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นโครงการนำร่องต่อผู้ใช้ไฟฟ้า ตั้งเป้าการประหยัดไฟฟ้าในช่วงนำร่อง 5 ปี ได้ถึง 206 ล้านหน่วย

นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดตัวการดำเนินมาตรการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอนุรักษ์พลังงานสำหรับผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงาน (Energy Efficiency Resources Standards หรือ มาตรการ EERS) ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 3 การไฟฟ้า โดยมีนายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมงาน ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม B โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว

นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ยกระดับและพัฒนาการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณค่ามากขึ้น โดยผสมผสานการใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรการ EERS นับเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้แผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิผล โดยนำองค์ความรู้การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าของแต่ละหน่วยงานมาพัฒนาและต่อยอดให้กับผู้ใช้บริการไฟฟ้าในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม

ด้าน นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า นอกจากดำเนินภารกิจหลักในการจำหน่ายไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการด้วยความมั่นคงและเชื่อถือได้แล้ว กฟน. ยังสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการต่าง ๆ มาโดยตลอด เช่น โครงการ กฟน. ล้างแอร์ลดโลกร้อน โครงการ Energy Mind Award โครงการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร (MEA Energy Saving Building) รวมไปถึงโครงการให้บริการด้านธุรกิจพลังงานแก่ภาครัฐและเอกชน ซึ่งนับเป็นความสำเร็จร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง สำหรับการดำเนินมาตรการ EERS ในช่วงโครงการนำร่องปี 2561 – 2565 กฟน. กำหนดแนวทางเพื่อรองรับมาตรการ EERS ได้แก่ การให้คำปรึกษา ตรวจวัดการใช้พลังงาน นำเสนอแนวทางการประหยัดพลังงาน และให้การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่กลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ตลอดจนดำเนินโครงการ Energy Alert โดยพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนให้สามารถแจ้งเตือนข้อมูลการใช้ไฟฟ้าได้แบบตามเวลาจริง (Real Time) ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าตรวจสอบสถิติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังและตระหนักถึงการใช้ไฟฟ้าของตนเองได้

สำหรับ นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวต่อไปว่า กฟภ. ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนได้ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีแนวทางส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้แก่ การสร้างความตระหนักรู้ในการใช้พลังงาน การปรับปรุงกระบวนการและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า การเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงการจัดการพลังงานในรูปแบบการอนุรักษ์พลังงาน (ESCO) โดยมีการสำรวจ ตรวจสอบ วิเคราะห์และประเมินศักยภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า พร้อมทั้งดำเนินการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ดำเนินงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management : DSM) ตั้งแต่ปี 2536 เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองนโยบายของภาครัฐ ที่ผ่านมาสามารถลดพลังงานไฟฟ้าได้ 27,120 ล้านหน่วย และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศลงกว่า 15.4 ล้านตัน สำหรับมาตรการ EERS กฟผ. ได้นำงาน DSM มาพัฒนาต่อยอดเป็นโครงการนำร่อง ประกอบด้วย งานที่ปรึกษาในรูปแบบ ESCO และตรวจวัดการใช้พลังงานให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม โครงการสนับสนุนการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงเรียนและภาคครัวเรือนด้วยการเปลี่ยนหลอด LED และเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ และโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง โดยจัดทำมาตรฐานการประหยัดพลังงานที่สูงกว่าเดิม และแบ่งเกณฑ์ประสิทธิภาพฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ให้สะท้อนผลการประหยัดพลังงานที่ละเอียดมากขึ้น โดยกำหนดใช้งานฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 รูปแบบใหม่ขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2562 นอกจากนี้ ยังดำเนินโครงการโรงเรียนคาร์บอนต่ำลดการใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอุปกรณ์ไฟฟ้า นำไปสู่การลดใช้พลังงานในภาพรวมอีกด้วย

สำหรับมาตรการ EERS เป็นกลยุทธ์ในแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558 – 2579 (Energy Efficiency Plan : EEP 2015) เพื่อเป็นมาตรการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอนุรักษ์พลังงานสำหรับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายพลังงาน (Energy Efficiency Resources Standards : EERS) โดยกำหนดให้ 3 การไฟฟ้า ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อศึกษาถึงผลการลดการใช้ไฟฟ้า ก่อนนำมากำหนดเป็นแนวทางการดำเนินงานมาตรการภาคบังคับในปี 2566 – 2579 อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ทั้งนี้ แบ่งมาตรการดำเนินงานเป็น 3 ประเภท ได้แก่ มาตรการให้คำปรึกษา โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีศักยภาพทุกภาคส่วน มาตรการใช้แรงจูงใจทางการเงิน สนับสนุนการเงินแก่กลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และมาตรการลักษณะภาพรวม (Mass) เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงานในภาพรวม เช่น การจัดการพลังงานในรูปแบบ ESCO Matching การจัดทำมาตรฐานประหยัดพลังงานที่สูงกว่ามาตรฐานฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน ทั้งนี้ คาดว่าช่วงโครงการนำร่องจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ 206 ล้านหน่วย

www.mitihoon.com