GUNKUL ลั่นไตรมาส 3 เตรียมพลิกมีกำไร

184

 

มิติหุ้น-GUNKUL ลั่นไตรมาส3/61 จะพลิกมีกำไร เตรียมลุย COD ไตรมาส2-4/61 กว่า130 เมกะวัตต์สิ้นปี COD รวม 370 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตในมือ 513เมกะวัตต์ เป้าหากกำลังการผลิตใหม่เข้าเพิ่ม 490 เมกะวัตต์ภายใน 3 ปี ดันยอดกำลังการผลิตในมือ1,000 เมกะวัตต์ เตรียมเซ็นลงทุนโซลาร์รูฟท็อปกับเอกชนรายใหญ่ 40 เมกะวัตต์ มิ.ย.นี้ เป้าหมายปีนี้ 60-70 เมกะวัตต์มั่นใจรายได่โตไม่ต่ำกว่า 50%

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL ผู้ให้บริการติดตั้งระบบวิศวกรรมไฟฟ้า และผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยนายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส2/61 อาจจะยังไม่สามารถล้างขาดทุนสะสมได้ไม่หมดจากที่ไตรมาส1/61 ขาดทุนอยู่ที่ 109 ล้านบาทเนื่องจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ในช่วงไตรมาส3/61 เนื่องจากช่วงไตรมาส3-4/61 จะมีประสิทธิภาพจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เข้าเพิ่ม 130 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลมที่จ.นครราชสีมา 50 เมกะวัตต์ และ COD โซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น 80 เมกะวัตต์ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.61 อย่างไรก็ตามคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีกำลังการผลิตที่ COD รวมทั้งหมด 370 เมกะวัตต์จากกำลังการผลิตในมือหรือสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ราว 513 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนหากำลังการผลิตติดตั้ง (PPA) เข้ามาเพิ่มอีก 490 เมกะวัตต์ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยจะส่งผลให้มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งหมด 1,000 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนเพิ่มเติมในภูมิภาคอาเซี่ยนไม่ว่าจะเป็น ไทยมาเลเซีย เวียดนาม เมียมา กัมพูชา รวมถึงในประเทศญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะลงทุนในประเทศ 200-300 เมกะวัตต์ เวียดนาม 100 เมกะวัตต์ และในประเทศอื่นๆ อีก100 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ GUNKUL เตรียมลงนามเซ็นสัญญาโครงการโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาเพิ่มในวันที่ 20 มิ.ย. นี้อีก 40 เมกะวัตต์จากที่ลงนามเซ็นสัญญาไปแล้ว 3 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าปีนี้จะสามารถลงทุนได้ราว 70 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการ GROOF หรือพลังงานแสงอาทิตย์ระดับครัวเรือนที่จะเปิดตัวในวันที่29 มิ.ย.นี้คาดว่าจะได้งานประมาณ 30-40 เมกะวัตต์ นอกจากนี้แล้วยังสนใจลงทุนโครงการโซลาร์ลอยน้ำ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 1,000 เมกะวัตต์

ส่วนงานรับติดตั้งระบบวิศวกรรมไฟฟ้า (EPC) นั้นปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) ราว 700-800 ล้านบาทคาดว่าจะรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ทั้งหมด และคาดว่าครึ่งปีหลัง 61 จะมีงานเข้ามาเพิ่มอีกประมาณ 1,000 ล้านบาทจากโครงการโซลาร์รูฟท็อป ส่วนโครงการสายเคเบิ้ลใต้น้ำที่คาดว่าจะประมูล 2 โครงการปลายปีนี้ราว3,000 ล้านบาทคาดว่าจะได้มา 1 โครงการ  ส่วนภาพรวมทั้งปี61 มั่นใจว่ารายได้จะยังเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 50% เทียบกับปี 60 ที่มีรายได้รวม 5,124 ล้านบาท

www.mmitihoon.com