อุปทานน้ำมันดิบตึงตัว หนุนให้ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง

317

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 69 -74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 76 -81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล                           

        แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (21 – 25 พ.ค. 61)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยได้รับแรงหนุนจากภาวะอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้น ท่ามกลางความกังวลต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านสู่ตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง หลังสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านและมีแผนบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านอีกครั้ง ประกอบกับราคาได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบอาจอยู่ในกรอบที่จำกัด เนื่องจากตลาดยังถูกกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับต้นทุนเฉลี่ยในการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตในสหรัฐฯ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

 

  • ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านสู่ตลาดโลกมีแนวโน้มปรับลดลง หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านและกลับมาคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรต่อการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 พ.ย. หรือ 180 วัน นับจากวันที่ประกาศ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจะปรับลดลงในอีก 2 – 3 เดือนข้างหน้า ที่ราว 300,000 – 1,000,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในกลางปี 2562 ซึ่งขนาดของผลกระทบขึ้นอยู่กับว่าประเทศคู่ค้ากับอิหร่านจะดำเนินการตามมาตรการของสหรัฐฯ มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดี ต้องจับตาท่าทีของประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปก หลังมีการส่งสัญญาณว่าสมาชิกบางรายแสดงความพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อชดเชยปริมาณน้ำมันดิบที่ปรับลดลงจากอิหร่าน และรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันไว้
  • ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน เม.ย. ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกปรับลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 32 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้อัตราความร่วมมือของกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 162% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบปี โดยการปรับลดลงส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาที่ทรุดตัวลง ทั้งนี้ อุปทานน้ำมันที่ลดลงส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD Oil stocks) ปรับตัวลดลงและอยู่เหนือระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี เพียง 9 ล้านบาร์เรลในเดือน มี.ค.
  • จับตาสถานการณ์ในเวเนซุเอลา หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ในวันที่ 20 พ.ค. นี้ ซึ่งสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเรื่องการออกมาตรการคว่ำบาตรต่ออุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลา เพื่อตอบโต้รัฐบาลเวเนซุเอลาภายใต้การนำของนายนิโคลัส มาดูโร เรื่องความไม่ชอบธรรมในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยการคว่ำบาตรเพิ่มเติมของสหรัฐฯ อาจสร้างแรงกดดันต่อความสามารถในการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลา ซึ่งขณะนี้ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ และการเงิน และไม่สามารถหาเงินเพื่อมาจุนเจือและลงทุนอุตสาหกรรมน้ำมันได้ตามเดิม จนส่งผลกระทบให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของประเทศปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี ที่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบที่ทะยานปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบ ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ที่เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ในเดือน มิ.ย. ปรับเพิ่มสูงขึ้นราว 145,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มขยายตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาน้ำมันที่ค่อนข้างสูงใกล้ระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้น้ำมันน้อยลง โดยล่าสุดสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปี 2561 จะขยายตัวราว 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และจำนวนผู้ขอสวัสดิการครั้งใหม่ของสหรัฐฯ

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 14 – 18 พ.ค. 61)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 77.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบโลกที่ตึงตัวมากขึ้น จากความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งความกังวลต่ออุปทานจากอิหร่านที่ลดลง หลังสหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่ นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หนุนราคาน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ อย่างไรก็ดี การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบอาจอยู่ในกรอบที่จำกัดเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น รวมทั้งปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดย บมจ.ไทยออยล์(TOP)