“กลุ่มแบงก์”กลับสู่ยุคแข่งเดือด ระบบดิจิทัลเร่งต้นทุนธุรกิจพุ่ง

62

มิติหุ้น – โบรกเกอร์ส่องธุรกิจแบงก์พาณิชย์กลับมาแข่งขันรุนแรง รับแรงกดดันจากการผลักดันลูกค้าขึ้นสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ฉุดกำไรแบงก์ใหญ่ชะลอตัว ชี้เป้า KBANK, SCB, BBL และ TMB รับผลกระทบหนักสุด

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.หลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) มองผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีแรงกดดันมากขึ้นจากการยกเลิกค่าธรรมเนียม แม้ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 1/2561 จะเป็นไปตามคาด แต่ยังมีหลายรายการที่ไม่เป็นไปตามคาด เช่น credit cost ซึ่งลดลงมากกว่าที่คาด หักล้างกับ opex ที่เพิ่มขึ้นมาก สินเชื่อเร่งตัวขึ้น โดยส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อธุรกิจ ส่งผลให้มาร์จิ้นของธนาคารส่วนใหญ่ลดลง โดยเฉพาะ KBANK, SCB และ TMB ซึ่งลดลง 0.10-0.15% ส่วน KTB ลดลงถึง 0.40%

แข่งขันแรงกดดันต้นทุน

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมในช่วงไตรมาส 1/2561 ยังเติบโตได้ถึงประมาณ 6-7% ยกเว้น KBANK ซึ่งมาจากธุรกิจ wealth management, รายได้จากการปริวรรตเงินตรา และการซื้อขายหลักทรัพย์ สำหรับด้านคุณภาพสินทรัพย์ก็มีสัญญาณดีขึ้นจาก NPL เกิดใหม่ที่ลดลง ส่งผลให้ credit cost ลดลง และ NPL coverage เพิ่มขึ้น ยกเว้น BBL

อย่างไรก็ตาม นอกจากรายได้ในอนาคตของธนาคารจะถูกกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนผ่านธุรกรรมดิจิตอลแล้ว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ SCB ที่เพิ่มขึ้นถึง 20% ในไตรมาส 1/2561 ถือเป็นอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วง ซึ่ง SCB ได้ทุ่มงบก้อนใหญ่เพื่อดึงลูกค้าใหม่ในส่วนของบัตรเครดิต, เร่งลงทะเบียนระบบชำระเงินแบบใหม่โดยใช้ QR, และเร่งโยกลูกค้าไปใช้บริการ platform ดิจิตอลมากขึ้น โดยจากงบลงทุนสูงเกินกว่าที่ธนาคารกำหนดไว้ ฝ่ายวิจัยจึงเป็นห่วงว่าการที่ SCB เพิ่มงบ opex จะทำให้การแข่งขันในภาคการเงินกลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง

ปรับลดกำไร 4 แบงก์ใหญ่

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยมองว่า TMB เป็นแบงก์ที่น่าห่วงที่สุดเนื่องจากผู้ฝากเงินเดิมเคยใช้บริการเป็นตัวเลือกที่สองสำหรับการโอนเงินแบบไม่เสียค่าธรรมเนียมโดยใช้บัญชี ME-TMB อาจจะโยกกลับไปใช้บริการที่ธนาคารหลักที่ใช้อยู่อย่างเช่น KBANK หรือ SCB ขณะที่ BBL อาจจะเสียฐานลูกค้าบางส่วนไปเพราะลูกค้าหลักของธนาคารอาจจะใช้บริการน้อยลง แต่คาดว่าผลกระทบต่อ KKP และ TISCO จะน้อยกว่าธนาคารอื่น เนื่องจากจุดสนใจทางธุรกิจ และกลุ่มผู้ฝากเงินแตกต่างกัน

เพื่อสะท้อนผลของการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงิน และ opex ที่เพิ่มขึ้น ฝ่ายวิจัยจึงปรับลดประมาณการกำไรปี 2561 และ 2562 ของ 4 ธนาคารคือ KBANK, SCB, BBL และ TMB รวมทั้งปรับลดราคาเป้าหมายของ BBL ลง 8% เหลือ220 บาท, ของ KBANK ลง 7% เหลือ 232 บาท, ของ SCB ลง 12% เหลือ 145 บาท, และ TMB ลง 6% เหลือ 2.30 บาท แต่ยังคงประมาณการและราคาเป้าหมายของ KTB, TCAP, KKP ไว้เท่าเดิม แต่ปรับเพิ่มราคาเป้าหมาย TISCO