ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดทรงตัว โดยได้รับอานิสงส์จากอุปทานโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

144

+ ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดทรงตัววานนี้ หลังแตะระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 57 ระหว่างชั่วโมงการซื้อขาย โดยยังคงได้

รับแรงสนับสนุนจากอุปทานที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ ตลาดมีแรงเก็งกำไรต่อคำให้สัมภาษณ์ของซาอุดิอาระเบียที่มีเป้าหมายในการรักษาราคาน้ำมันดิบให้อยู่ในระดับสูง

+ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบโอเปกและนอกโอเปก เผยว่า ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) ในเดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ 12 ล้านบาร์เรล เหนือค่าเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งเป็นเป้าหมายของการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มฯ นับว่าปรับลดลงอย่างมากจากระดับ 340 ล้านบาร์เรล เหนือค่าเฉลี่ย 5 ปี ในเดือน ม.ค. ปี 60

+ แหล่งข่าวจากกลุ่มโอเปกเผยว่า ซาอุดิอาระเบียมีความต้องการให้ราคาน้ำมันดิบทรงตัวอยู่ในระดับ 80-100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยอาจเป็นระยะเวลายาวนานกว่าที่ตลาดคาด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าให้กับการนำซาอุดิอารัมโก บริษัทน้ำมันแห่งชาติ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบกับซาอุดิอาระเบียต้องการทุนทรัพย์จากน้ำมันดิบเป็นจำนวนมากสำหรับการบรรลุเป้าหมายแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ Vision 2030 ของมกุฎราชกุมารโมฮัมเม็ด บิน ซาลมาน

+ ผู้เชี่ยวชาญจาก Societe Generale เปิดเผยว่า หากเกิดการคว่ำบาตรอิหร่านโดยสหรัฐฯ ในวันที่ 12 พ.ค. ที่จะถึงนี้ อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบถึง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และอาจเป็นแรงหนุนให้กับราคาน้ำมันดิบพุ่งถึง 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดได้มีการสะท้อนปัจจัยดังกล่าวล่วงหน้าในราคาปัจจุบันแล้วราว 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานในภูมิภาคเอเชียปรับเพิ่มขึ้นจนเริ่มประสบภาวะล้นตลาด ในขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างอ่อนแอ แม้ว่าฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ เริ่มส่งผลให้มีการนำเข้าน้ำมันเบนซินมากขึ้นแล้วก็ตาม

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยอุปสงค์ในตะวันออกกลางอยู่ในระดับสูงเนื่องจากมีการเร่งซื้อสินค้าเติมคลังก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลถือศีลอด ประกอบกับอานิสงส์จากอุปทานที่ลดลง โดยเฉพาะจากประเทศจีนที่มีการปรับลดการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงลงในเดือน เม.ย.

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • ความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกในเดือน มี.ค. ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน โดยการปรับลดหลักๆ มาจากการแองโกลา ลิเบีย และเวเนซุเอลา
  • EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในปี 2562 จะปรับเพิ่มขึ้น 7.5 แสนบาร์เรลต่อวันจากปีนี้ สู่ระดับเฉลี่ย 11.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ แซงหน้ารัสเซียและซาอุดิอาระเบีย กลายเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลก โดยการปรับเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากปริมาณการน้ำมันดิบจากหินชั้นดินดาน (Shale Oil) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแหล่งการผลิต Permian

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน
หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์