ฟันธง BBL-TMB ผลงานแกร่งสุด  “กลุ่มแบงก์”ฟาดกำไร 4.36หมื่นล.  

167

มิติหุ้น – “กลุ่มแบงก์” ประเดิมแจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2561 โบรกเกอร์ประเมินกำไรสุทธิอยู่ที่ราว 4.36 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากไตรมาสก่อนหน้า มอง BBL-TMB ผลงานโดดเด่นสุดในกลุ่ม

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์เตรียมประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2561 โดยกำไรยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีจากฐานต่ำ โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า กำไรสุทธิงวดไตรมาส 1/2561 ของกลุ่มธนาคารคาดว่าจะอยู่ที่ราว 4.36 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลงตามฤดูกาล แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนคาดว่ากำไรสุทธิจะปรับตัวลง 5.7% จากค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้าน IT และการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นจากมาตรฐานบัญชี TFRS9

BBLกำไรแกร่งสุดในกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม คาดว่า BBL จะเป็นเพียงธนาคารเดียวที่กำไรเติบโตทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญที่ลดลง เพราะไม่มีนโยบายในการ write-off หนี้เสีย และคาดว่า BBL เป็นธนาคารที่มีความเสี่ยงในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นจาก TFRS9 น้อยที่สุด เพราะมี coverage ratio อยู่ในระดับสูง

ในส่วนของสินเชื่อไตรมาส 1/2561 คาดว่า จะเติบโตได้ที่ 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเติบโต 0.4% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อรายใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากภาคเอกชนที่เริ่มมีการเบิกจ่ายในโครงการภาครัฐออกมาใช้บางส่วน ขณะที่สินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะบัตรเครดิต มีการปรับตัวลดลงตามฤดูกาล ส่วนสินเชื่อ SME ยังคงทรงตัว โดยคาดว่าสินเชื่อทั้งปี 2561 จะเติบโตได้ที่ 5.5% ซึ่งจะเห็นการเติบโตของสินเชื่อกลับมาเพิ่มขึ้นได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากการโครงการภาครัฐจะมีการเร่งการลงทุนในช่วงปลายปี

ไตรมาส2/61เริ่มชะลอตัว

สำหรับแนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารในงวดไตรมาส 2/2561 คาดว่าจะเติบโตได้อย่างชะลอตัวลง หลังจากเผชิญกับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการโอน จ่าย ถอนและเติมเงินผ่านแอพพลิเคชั่น และอินเทอร์เน็ต เริ่มใช้ตั้งแต่ช่วง 26 มี.ค. 2561 โดยคาดว่า KBANK จะเป็นธนาคารที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมที่สูงสุดในกลุ่มราว 30% ของรายได้รวม รองลงมาเป็น SCB ที่มีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมราว 24% ตามมาด้วย BBL ที่ 20% และ KTB ราว 18%

อย่างไรก้ตาม ฝ่ายวิจัยยังให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคาร “เท่ากับตลาด” แม้ว่าจะเจอผลกระทบจากการยกเว้นรายได้ค่าธรรมเนียมในระยะสั้น แต่มองว่าธนาคารจะมีการปรับตัวได้ โดยการลดจำนวนสาขาและตู้ ATM ลงได้เร็วกว่าที่ตั้งเป้าไว้ รวมทั้งคาดว่าการที่ธนาคารยกเว้นค่าธรรมเนียมทางออนไลน์ทันที ถือว่าเป็นการดึงลูกค้ากลับมาเข้าสู่ระบบธนาคารได้ เพราะก่อนหน้านี้ธนาคารได้สูญเสียลูกค้าบางกลุ่มไปใช้การทำธุรกรรมออนไลน์กับเจ้าอื่น

นอกจากนี้ เชื่อว่าธนาคารยังคงมีความได้เปรียบในด้านของ Big data ที่สามารถนำข้อมูลของลูกค้ามาต่อยอดในการทำธุรกรรมทางออนไลน์ได้หลายช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของการทำ e-marketplace ที่ธปท. อนุญาตให้ธนาคารและบริษัทในกลุ่มให้บริการแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการให้บริการพื้นที่หรือสื่อกลางผ่านเว็บไซด์เพื่อเป็นช่องทางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ชำระเงินออนไลน์แบบครบวงจร ซึ่งรูปแบบคล้ายการทำ e-commerce โดยเลือก BBL และ TMB เป็น Top pick โดย BBL มีความเสี่ยงด้าน TFRS9 น้อยที่สุด เพราะมี coverage ratio อยู่ในระดับสูง ราคาเป้าหมายที่ 211 บาท ส่วน TMB โดดเด่นเรื่องการเติบโตของกำไรสุทธิที่สูงสุดในกลุ่ม ราคาเป้าหมายที่ 2.80 บาท

www.mitihoon.com