คปภ.ติวเข้มรับมือ“FSAP” มุ่งยกระดับประกันภัยไทย

148

มิติหุ้น – คปภ. ติวเข้มบริษัทประกันชีวิต เตรียมรับมือการประเมินการกำกับดูแลภาคการเงินของประเทศไทย (FSAP) ย้ำมีหลายข้อเป็นมาตรฐานเกี่ยวข้องกับคนกลางประกันภัย และช่องทางการเสนอขายผลิตภัณฑ์ ล่าสุดจับ 21 บริษัทประกันเข้ารับมอบนโนบาย หวังช่วยยกระดับช่องทางขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยในทุกมิติ

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ในช่วงปลายปี 2561 ประเทศไทยจะต้องเข้ารับการประเมินการกำกับดูแลภาคการเงินของประเทศไทย (Financial Sector Assessment Program: FSAP) ซึ่งรวมถึงภาคธุรกิจประกันภัยด้วย

วางนโยบายคุมคนกลางประกันภัย
โดยเป็นการประเมินตามมาตรฐานสากล (Insurance Core Principles: ICPs) ของสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (International Association of Insurance Supervisors: IAIS) และมาตรฐานสากลนี้ จะประเมินประสิทธิภาพของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศนั้นๆ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจประกันภัยว่าอยู่ในระดับใดเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล

ทั้งนี้มาตรฐาน ICP มีหลายข้อที่เกี่ยวข้องกับการกำกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันภัย โดยมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับคนกลางประกันภัยโดยตรง คือ ICP ข้อ 18 (intermediaries) และ ICP ข้อ 19 (conduct of business) เป็นมาตรฐานที่ใช้ประเมินเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลคนกลางประกันภัย เช่น การกำหนดว่าคนกลางต้องมีใบอนุญาต มีมาตรฐานความรู้ความสามารถและมีจรรยาบรรณ มีการเสนอขายที่ให้ข้อมูลลูกค้าครบถ้วนถูกต้อง เป็นต้น

21บริษัทประกันรับมอบนโยบาย
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเป็นการยกระดับมาตรฐานคนกลางประกันภัย สำนักงาน คปภ.จึงได้เชิญบริษัทประกันชีวิต 21 บริษัท เข้าร่วมประชุม เพื่อรับมอบนโยบายการกำกับดูแลคนกลางประกันภัย และช่องทางการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจกับบริษัทประกันชีวิต ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับร่างประกาศเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออกการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต เกี่ยวกับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิตฉบับใหม่ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากที่ประชุมคณะกรรมการ คปภ. แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำมารับฟังความคิดเห็น

“บริษัทต้องมีระบบในการตรวจสอบติดตามคุณภาพการเสนอขายของคนกลางประกันภัย เพื่อให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติของบริษัทที่กำหนดไว้ และไม่กระทำการเป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบของสำนักงาน สำหรับหัวใจสำคัญในเรื่องนี้คือ การคุ้มครองผู้เอาประกันภัยให้ได้สิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัย โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน หรือที่เรียกว่า แนวทางประชารัฐ ภาครัฐมีหน้าที่กำกับให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ส่วนภาคเอกชนต้องช่วยกำกับคนกลางประกันภัยในสังกัดของตนให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสม” ดร.สุทธิพลกล่าว