สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนส่อแววปะทุ หลังสหรัฐฯ เล็งขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน

567
This picture is a three-dimensional synthesis, that the international strategic layout, competition among countries
  • เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2018 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามใน presidential memorandum มีคำสั่งให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (S. Trade Representative: USTR) พิจารณาเก็บภาษีนำเข้า (import tariff) ที่อัตรา 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวมราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าราว 2.5% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ หรือ 11.4% ของการนำเข้าจากจีนในปี 2017 ทั้งนี้ USTR จะต้องนำเสนอรายชื่อสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีภายใน 15 วันหลังจากนี้
  • คำสั่งดังกล่าวเป็นผลมาจากการตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของจีน ตามมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (Trade Act of 1947) ที่ได้เริ่มตรวจสอบมาตั้งแต่ 18 สิงหาคม 2017 ทั้งนี้ จากการตรวจสอบดังกล่าว USTR ระบุว่าทางการจีนได้มีพฤติกรรมและมีนโยบายที่ก่อให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ให้กับจีนและก่อให้เกิดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งส่งผลเสียต่อการค้าของสหรัฐฯ โดยพฤติกรรมดังกล่าวได้แก่ 1) การบังคับใช้ข้อจำกัดในการลงทุนซึ่งกดดันให้บริษัทสหรัฐฯ ต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อแลกกับการเข้าไปลงทุนในจีน 2) การเลือกปฏิบัติในการออกใบอนุญาตอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อกดดันให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี 3) ทางการจีนสนับสนุนการเข้าซื้อกิจการในสหรัฐฯ ซึ่งนำไปสู่การครอบครองเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา และ 4) ทางการจีนสนับสนุนการบุกรุกทางไซเบอร์ (cyber intrusion) เพื่อเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ ซึ่งมีข้อมูลความลับทางธุรกิจมูลค่ามหาศาล

อีไอซีมองการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ ในรอบนี้มีเหตุผลเชิงนัยทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง 

ในด้านเศรษฐกิจ ทรัมป์ต้องการที่จะลดการขาดดุลการค้ากับจีนให้ได้มากที่สุดเพราะจีนมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงที่สุดซึ่งเป็นมูลค่าราว 3.7 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2017 จึงใช้เหตุผลการค้าที่ไม่เป็นธรรมและการขาดดุลสูงเป็นข้อต่อรองกับจีน ในขณะที่เหตุผลด้านการเมืองมีเหตุปัจจัยทั้งภายในและนอกสหรัฐฯ โดยเหตุปัจจัยภายในสหรัฐฯ ทรัมป์ได้วางแผนขึ้นภาษีนำเข้าต่อจีนเพื่อรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้ตอนช่วงหาเสียงในปี 2016 รวมถึงต้องการรักษาฐานเสียงของตนก่อนการเลือกตั้งกลางปี (mid-term election) ช่วงเดือน พ.ย. 2018 ปีนี้ นอกจากนี้ ยังมองเป็นเกมการเมืองระหว่างชาติมหาอำนาจได้ เนื่องจากการขึ้นภาษีนำเข้ารอบนี้เจาะจงเฉพาะสินค้าจีนโดยตรง และทรัมป์ยังกล่าวว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นและยังมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต ทั้งที่นโยบาย safeguard tariff ของสหรัฐฯ ก่อนหน้า อาทิ การเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม ท้ายสุดแล้วสหรัฐฯ ก็ได้มีการพิจารณาผ่อนผันลงโดยยกเว้นภาษีให้สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย บราซิล อาร์เจนตินา และเกาหลีใต้ได้ชั่วคราว เหล่านี้มองได้ว่าทรัมป์พยายามสร้างสมดุลให้กับการเมืองภายในเพื่อรักษาฐานคะแนนของตน พร้อมกับพยายามรักษาพันธมิตรทางการค้าระหว่างประเทศเดิม เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา เม็กซิโก เป็นต้น เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกดดันจีนในสงครามการค้าและจิตวิทยาได้อย่างสมดุล

  • สินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และจีน อาจได้รับผลกระทบหากมีการเก็บภาษีสินค้าจากจีนโดยเฉพาะสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตและจีนได้ส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ เป็นสินค้าขั้นสุดท้าย ซึ่งอีไอซีพบว่าสินค้าที่มีสัดส่วนสำคัญของการส่งออกไทย อยู่ในห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว และมีความเสี่ยงจะถูกเก็บภาษี ได้แก่ 1) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า, กล้องถ่ายรูป, LCD, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์, และ CPU (มีสัดส่วนรวม 23% ของการส่งออกจากไทยไปจีนทั้งหมด) ซึ่งจีนใช้สินค้าดังกล่าวในผลิตโทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และ CPU เพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ และ 2) พลาสติกขั้นพื้นฐาน (สัดส่วน 10% ของการส่งออกจากไทยไปจีนทั้งหมด) ซึ่งเป็นสินค้าที่ทางจีนใช้ผลิตของเล่นและผลิตภัณฑ์พลาสติกไปยังสหรัฐฯ (รูปที่ 1) ทั้งนี้ จีนอาจนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยน้อยลงเนื่องจากจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้น้อยลง
  • อย่างไรก็ตาม ไทยอาจได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแผนการลงทุนของจีน และหากสหรัฐฯ นำเข้าจากไทยมากขึ้นถึงแม้จะยังไม่มีรายละเอียดสินค้าที่จะถูกเก็บภาษี ทางทำเนียบขาวระบุว่าจะพยายามจำกัดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยตรงให้น้อยที่สุด ซึ่งมีแนวโน้มว่าทางสหรัฐฯ จะเลือกเก็บภาษีในสินค้าที่สามารถนำเข้าจากประเทศอื่นทดแทนได้ ทำให้สินค้าจากไทยบางชนิดอาจส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มมากขึ้น อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไทยมีการส่งไปสหรัฐฯ อยู่มีมูลค่ารวมกว่า 48% ของการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ทั้งหมด นอกจากนี้ การเล็งเก็บภาษีจากจีนเพียงประเทศเดียวก็อาจทำให้บริษัทจีนพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนโดยอาจขยายกำลังการผลิตไปในประเทศอื่นแทนได้ ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่จีนอาจเข้ามาลงทุนเพิ่มเพื่อผลิตสินค้าที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ และท้ายที่สุดแล้วก็จะทำให้ไทยมีการส่งออกไปสหรัฐฯ ได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
  • จับตาต่อเนื่องถึงรายละเอียดการเก็บภาษีที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงรวมถึงผ่อนผันได้ในอนาคตจากการที่ทาง USTR จะประกาศรายชื่อสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ ก็ยังมีความเป็นไปว่ารายชื่อดังกล่าวอาจถูกเปลี่ยนแปลงได้หลังจากนั้น เนื่องจากทางสหรัฐฯ ยังให้เวลารับฟังความเห็นจากประชาชนอีก 30 วันหลังจากรายชื่อสินค้าถูกเปิดเผย เพื่อที่จะทำการทบทวนและออกมาตรการเก็บภาษีอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าภาคเอกชนในสหรัฐฯ จะเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในสินค้าที่จะกระทบต่อธุรกิจรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเจรจากับทางการจีนเพื่อลดความรุนแรงของมาตรการลง

โดย Economic Intelligence Center (EIC) ธ.ไทยพาณิชย์