สต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ร่วงส่งให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์

96

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ประกาศปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 2.6 ล้านบาร์เรลสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลงราว 0.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่กำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ หลายแห่งยังคงอยู่ในระดับสูง

+ ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.75 ส่งผลให้นักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่นหันมาให้ความสนใจในการลงทุนในตลาดน้ำมันดิบมากขึ้น โดย Fed คาดว่าจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกสองครั้งภายในปี 2561

+ ผลของความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตระหว่างกลุ่มประเทศโอเปก (OPEC) และประเทศนอกกลุ่มโอเปก (Non-OPEC) ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 138 สูงสุดนับตั้งแต่เกิดความร่วมมือในเดือน ม.ค. 2560 แม้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของโลกจะเริ่มปรับลดลงเข้าสู่สมดุลมากขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง โดย OPEC คาดว่าความร่วมมือยังคงต้องดำเนินต่อไป

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันเบนซินยังคงอยู่ในภาวะอ่อนตัวจากแรงกดดันของการส่งออกจากประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา หลังมีโรงกลั่นเปิดดำเนินการใหม่ในประเทศจีน

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานบางส่วนจะปรับลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นบางแห่งในเอเชีย อย่างไรก็ตาม อุปทานจากโรงกลั่นที่ดำเนินการตามปรกติยังคงเพียงพอต่อความต้องการใช้และอุปสงค์น้ำมันดีเซลในเอเชียยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง 

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย EIA คาดปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ ในปี 2561 จะปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับเฉลี่ยที่ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะขยายตัวสู่ระดับ 11.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ แซงหน้ารัสเซียกลายเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก
  • จับตาสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศลิเบีย หลังเกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ที่ส่งผลกระทบให้ลิเบียต้องประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) และหยุดดำเนินการผลิตจากแหล่งน้ำมันดิบ El Feel ซึ่งมีกำลังการผลิตราว 70,000 บาร์เรลต่อวัน แม้ว่าลิเบียจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มก่อความไม่สงบในการเปิดดำเนินการแหล่งผลิตน้ำมันดิบดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 61 ก็ตาม

 

วิเคราะห์สถานหารณ์ราคาน้ำมัน

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์