NFC ปรับโมเดลธุรกิจ รอเวลาคืนสังเวียน

1290

NFC หรือในชื่อ บมจ.เอ็นเอฟซี หนึ่งในหุ้นระดับตำนานของวงการตลาดหุ้นไทย เริ่มจากการเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน ภายใต้ชื่อ “บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด” ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2525 มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรกจำนวน 50 ล้านบาท ต่อมาแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ภายใต้ชื่อ “บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)” ก่อนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเริ่มซื้อขายวันแรกเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2539 ราคา IPO อยู่ที่ 16.00 บาท พาร์ 10.00 บาท

เผชิญวิกฤติต้มยำกุ้ง

หุ้น NFC มีลักษณะคล้ายกับหุ้นตัวอื่นที่ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ แขวน SP คือ “ปัญหาด้านการเงิน” ซึ่ง NFC เป็นอีกหนึ่งหุ้นที่เผชิญกับวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 จนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง ผลประกอบการขาดทุนอย่างหนักจากต้นทุนการเงินปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วหลังรัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาท จนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลางเมื่อปี 2546 และทำให้หุ้น NFC ต้องหยุดการซื้อขายนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายอยู่ที่ 1.36 บาท

เปลี่ยนผถห. – ปรับโมเดลธุรกิจ

หลังจาก NFC ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ พร้อมกับการถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เมื่อปี 2546 ทางกลุ่มผู้บริหารของ NFC ได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงให้กับกลุ่มทุนต่างๆ รวมไปถึงการเข้ามาของ “ณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี” นักธุรกิจหนุ่มใหญ่จากกลุ่ม SC GROP เจ้าของธุรกิจรายใหญ่ทางโลจิสติกส์และคลังสินค้า

โดย “ณัฐภพ” ได้เริ่มไล่ซื้อหุ้น NFC ตั้งแต่ช่วงปี 2547 ก่อนจะมีการทำ Tender Offer และเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เต็มตัวได้สำเร็จ ท่ามกลางข่าวความขัดแย้งกับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มเดิม หลังจากนั้น NFC ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ด้วยการปิดโรงงานปุ๋ย พร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากเดิมที่เป็นผู้ผลิตปุ๋ยเคมี มาเป็นผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีมาจำหน่าย รวมถึงผู้นำเข้าเคมีภัณฑ์ ทั้ง แอมโมเนีย และกรดกำมะถัน และยังเพิ่มธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้า

แก้ปัญหาหนี้ – ล้างขาดทุน     

                 ด้านปัญหาหนี้สินที่มีอยู่กับเจ้าหนี้รายต่างๆ และการล้างขาดทุนสะสม ทาง NFC ได้ปรับโครงสร้างหนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีเจ้าหนี้คงเหลือตามการปรับโครงการสร้างหนี้อีกราว 43.34 ล้านบาท รวมทั้งยังได้ดำเนินการล้างขาดทุนสะสมด้วยหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะการเพิ่มทุน การลดทุน การลดราคาพาร์ และล่าสุดได้มีการเพิ่มราคาพาร์จาก 0.50 บาท มาเป็น 1.25 บาท ทำให้จำนวนหุ้นจดทะเบียนลดลงมาเหลือ 1,087.83 ล้านหุ้น จากเดิม 2,719.58 ล้านหุ้น พร้อมกับการลดทุนจดทะเบียนมาเป็น 815.87 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 1,359.79 ล้านบาท ด้วยการลดราคาพาร์จาก 1.25 บาท มาเป็น 0.75 บาท โดยนำเงินที่ได้จากการลดทุนจำนวน 543.92 ล้านบาทมาล้างขาดทุนสะสม

รอเวลากลับสังเวียนหุ้น

                ส่วนผลประกอบการของ  NFC พบว่าสามารถกลับมาทำกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มกลับมามีกำไรตั้งแต่ปี 2558 ด้วยกำไรสุทธิ 80.37 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 397 ล้านบาทในปี 2559 ส่วนปี 2560 ที่ผ่านมา ยังสามารถทำกำไรได้ราว 214.69 ล้านบาท และหากดูที่งบการเงินล่าสุดที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2560 พบว่า NFC สามารถล้างขาดทุนสะสมได้หมดเกลี้ยง แถมยังกลับมามีกำไรสะสมอีกราว 206.48 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับสูงเกือบ 1 พันล้านบาท โดยรายได้สำคัญของ NFC ในปัจจุบัน มาจากการให้บริการท่าเทียบเรือ และคลังสินค้า

ขณะที่ในอนาคต NFC ยังมีแผนโครงการปรับปรุงคลังสินค้ารองรับความต้องการของลูกค้า และการขยายฐานลูกค้าในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมถึงอยู่ระหว่างศึกษาโครงการพัฒนาคลังสินค้าเหลวเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 4/2561 ส่วนตอนนี้ NFC อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้กลับมาซื้อขายในตลาดหุ้นอีกครั้ง หลังจากยื่นเรื่องไปตั้งแต่ปี 2560

ต้องมาลุ้นว่า ผลงานที่ผ่านมาของ NFC จะเข้าตาตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่

 


รายชื่อกรรมการล่าสุด

นาย วิศณุ นิเวศน์มรินทร์                   ประธานกรรมการ

นาย วิศณุ นิเวศน์มรินทร์                   กรรมการอิสระ

นาย ณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี       ประธานกรรมการบริหาร

นาย ณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี       รองประธานคณะกรรมการ

นาย ณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี       กรรมการผู้จัดการใหญ่

 


รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่

นาย ณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี

บริษัท อินเตอร์ สเปค โกลบอล จำกัด

นาย ธีรวัจน์ วงษ์เจริญสิน

นาย เอเซีย ภุขันอนันต์

นาย วิชัย ทองแตง


 

งบการเงินย่อ
งบการเงิน 60
งบการเงิน59
งบการเงิน58
รายได้ 1,128 1,317 1,627
กำไรสุทธิ 214 397 80
สินทรัพย์ 1,159 1,024 392
หนี้สิน 200 273 338
ส่วนทุน 959 750 53
พาร์ (บ) 0.75 0.75 0.75
ราคาปิด (บ) 1.36 1.36 1.36
PBV (เท่า) na na na