เหตุใด? ดัชนีคอร์รัปชั่น สูงขึ้น      

488

เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2561 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ไตรมาส 4/2560 และทั้งปี 2560

โดยไตรมาส 4/2560 จีดีพีของไทยขยายตัว 4%  ต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 4.2-4.3% ส่งผลให้จีดีพีทั้งปี 2560 ขยายตัวได้เพียง 3.9% ไม่ถึง 4% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าเอาไว้

เกิดคำถามว่า ทำไม? เศรษฐกิจขยายตัวไม่ได้ตามเป้า ทั้งที่รัฐบาลมีมาตรการมากมาย ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหา “คอร์รัปชั่น” เป็นหนึ่งในเชื้อโรคร้ายบั่นทอนเศรษฐกิจไทย แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลนี้คอร์รัปชั่นนะครับ เพียงแต่การกวาดล้างปัญหาคอร์รัปชั่น อาจจะหย่อนประสิทธิภาพลงไปบ้าง

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ สถานการณ์ดัชนีคอร์รัปชัน (CSI) ของไทยของเดือน ธ.ค.2560 พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 52 ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนในเดือนมิ.ย.2560 ที่อยู่ 53 เป็นการปรับลดลง ทั้งดัชนีสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต เช่นเดียวกับ ดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอร์รัปชัน ที่พบว่ามีความรุนแรงมากขึ้น โดยมาอยู่ที่ 42 จากครั้งก่อนอยู่ที่ระดับ 44

วิธีการอ่านค่าดัชนี คือ ตัวเลขยิ่งน้อย แสดงว่า การคอร์รัปชั่น มีมากขึ้น แต่หากตัวเลขมากขึ้น การคอร์รัปชั่น น้อยลง

“จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประมาณการว่า มูลค่าการทุจริตคอร์รัปชันจะมีวงเงินอยู่ที่ 5-15% ของงบประมาณ หรือมีมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 6.62 หมื่นล้านบาท ถึง 1.98 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.29-6.86% ของงบประมาณการใช้จ่าย และกระทบต่อจีดีพีประเทศ 0.41-1.23%” นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุ

สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย อันดับต้นๆ มาจากกฎหมายที่เปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลยพินิจที่เอื้อต่อการทุจริต กระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใส ความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย ขาดกลไกการกำกับดูแลกิจการ และความล่าช้า ยุ่งยากของขั้นตอนในการดำเนินการของราชการ

ขณะที่รูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด 5 อันดับแรกคือ การให้สินบน ของกำนัลหรือรางวัลต่างๆ การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก การทุจริตเชิงนโยบายโดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น การฮั้วประมูล และการจ่ายเงินเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ในภายหลัง

จากการสำรวจสถานการณ์ดัชนีคอร์รัปชันของไทยมาทั้งหมด 15 ครั้งหรือ 7 ปีครึ่ง โดยศูนย์พยากรณ์ฯ พบว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ที่ออกมา ทำให้ห่วงใยว่าสถานการณ์การคอร์รัปชันของไทย “มีแนวโน้มที่จะกลับมาเพิ่มขึ้น” หลังจากที่ปรับลดลงมาตลอดตั้งแต่ปี 2558 ทำให้ทุกคนมองว่า “เป็นช่วงขาลงของสถานการณ์คอร์รัปชันของไทย และมีสัญญาณความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น”

สำหรับค่าดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยในปี 2558 เคยทำสถิติทะลุระดับ 50 ซึ่งถือว่า “ดีที่สุด” แต่ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณดิ่งลงเรื่อยๆ เพราะรัฐบาลเริ่มเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายๆ โครงการ จึงเริ่มเห็นสัญญาณที่ล่อแหลมว่าการทุรจิตคอร์รัปชันจะกลับมาอีกครั้ง

และยังพบว่า อัตราการจ่ายใต้โต๊ะในปี 2560 อยู่ที่ 5-15% สูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ที่จ่ายเฉลี่ย 1-15% และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1-2 แสนล้านบาท

ในวันที่ 21 ก.พ.นี้ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม หรือ WEF จะมีการประกาศผล คะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทย (CPI) ประจำปี 2560 คงต้องจับตาดูว่า คะแนนและอันดับของไทยจะปรับลดลงหรือดีขึ้น จากปัจจุบันไทยมีคะแนนอยู่ที่ 35 คะแนน อยู่อันดับ 101 จาก 176 ประเทศ ลดลงจากปี 2558 ที่อยู่อันดับ 76

“บิ๊กเซ็ต”