ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จากภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่ยังคงตึงตัว

127

มิติหุ้น-ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 62-67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 67-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (29 ม.ค. – 2 ก.พ.  61)

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 11 หลังผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าที่ตกลงไว้ที่ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมถึงกำลังการผลิตของเวเนซุเอลาที่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปีจากภาวะหนี้สินและการบริหารของรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังภาวะหนาวผิดปกติได้สิ้นสุดลง และคาดว่าจะแตะระดับมากกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาสนี้ นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตของลิเบียคาดจะปรับเพิ่มขึ้น หลังท่อขนส่งน้ำมันดิบกลับมาดำเนินการได้ตามปกติแล้ว

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 11 หลังความต้องการใช้น้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูงและปริมาณการนำเข้าคาดจะอยู่ในระดับจำกัดโดยเฉพาะจากกลุ่มโอเปก เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตยังคงเดินหน้าลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องและปรับลดลงมากกว่าข้อตกลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงกว่า 41 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 411.6 ล้านบาร์เรล ขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 39.2 ล้านบาร์เรล
  • ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกยังคงเดินหน้าในการปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปริมาณน้ำมันคงคลังกลับมาสู่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี โดยซาอุดิอาระเบียคาดจะคงปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบในไตรมาส 1 ของปี 2561 ที่ราว 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นระดับที่คงที่จากการส่งออกในเดือน พ.ย.60 แม้ว่าความต้องการใช้ในประเทศจะปรับลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นขนาดใหญ่ 2 โรงซึ่งมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นกว่า 800,000 บาร์เรลต่อวันก็ตาม นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียได้ออกมาแถลงว่ากลุ่มสมาชิกทั้งในและนอกโอเปกยืนยันให้ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่อเนื่องอีกภายหลังข้อตกลงสิ้นสุดลงในปลายปีนี้ เนื่องจากต้องการจะรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันดิบ
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังสภาพอากาศหนาวเย็นผิดปกติได้สิ้นสุดลง ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สามารถกลับมาเริ่มขุดเจาะได้ตามปกติ โดย EIA รายงานปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นแตะระดับ88 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่เกือบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.04 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2513
  • จับตากำลังการผลิตของประเทศเวเนซุเอลา หลังกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้ลดลงมากกว่า 6 แสนบาร์เรลต่อวันจากปี 2559 มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี โดยเวเนซุเอลาได้เผชิญหน้ากับราคาน้ำมันตกต่ำตั้งแต่ในปี 2557 และภาวะเงินเฟ้อที่สูง ส่งผลให้ไม่สามารถชำระหนี้สินที่ได้ยืมจากต่างประเทศได้ โดยอัตราส่วนระหว่างหนี้สินต่างประเทศต่อเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่สูงถึง 20 ต่อ 1
  • ท่อขนส่งน้ำมันดิบในประเทศลิเบียที่ได้ปิดตัวลงในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา สามารถกลับมาขนส่งน้ำมันดิบได้ที่ราว 55,000 บาร์เรลต่อวัน จากกำลังการขนส่งเดิมที่ 70,000-100,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ท่อขนส่งมีแนวโน้มสูงที่จะกลับมาจ่ายน้ำมันในระดับปกติในอีกไม่นาน
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ GDP ไตรมาส 4/17 ของยุโรป ดัชนีภาคการผลิตจีน และดัชนีภาคการบริการจีน

 สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 – 26 ม.ค. 61)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 66.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 67.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 10 ติดต่อกัน โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ม.ค. ปรับลดลง 1.1 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 411.6 ล้านบาร์เรล ขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง ปรับลดลงกว่า 3.3 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ 39.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 130,000 บาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 9.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน