5 อันดับข่าวเด่นมิติหุ้นภาคเช้า

248

อันดับที่ 1 PTTEP ปี61รักษาระดับขายปิโตรเลียม 3 แสนบาร์เรลต่อวัน เล็งซื้อกิจการเพิ่ม ยันแหล่งบงกช ต้องชนะประมูล ขณะปี60ยอดขายตามเป้า

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า ปริมาณขายปิโตรเลียมปี 2560 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 3 แสนบาร์เรลต่อวัน และต้นทุนต่อหน่วยอยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะในปี 2561 ตั้งเป้าจะมีปริมาณขายปิโตรเลียมที่ 3 แสนบาร์เรลต่อวัน และรักษาต้นทุนต่อหน่วยให้อยู่ในระดับ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล บนพื้นฐานราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนแผนการลงทุนในปีนี้ยังคงมองหาโอกาสการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก ทั้งในไทย เมียนมา มาเลเซีย และอาจจะขยายไปยังตะวันออกลางที่มองว่ามีอัตราการเติบโตของการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม ภายใต้งบลงทุนปี2561 ราว 5.3 แสนล้านบาท ไม่รวมงบซื้อกิจการ ทั้งนี้ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการเข้าประมูลสัมปทานในมาเลเซีย และทำดีลซื้อกิจการ (M&A) ซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติม ส่วนการประมูลสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมบงกชนั้นจะต้องประมูลให้ได้เพราะเป็นแหล่งสำคัญของคนไทยและปตท.สผ.

อันดับที่ 2 บล.เอเชีย เวลท์ แนะ “ถือ” KTC ปรับเป้าราคาใหม่ 198 บ.

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บล.เอเชีย เวลท์ หรือ AWS ประเมินแนวโน้มผลดำเนินงานของ บมจ. บัตรกรุงไทย หรอื KTC โดยระบุว่า แม้ไตรมาส 4/60 จะเป็นไตรมาสแรกที่ KTC ได้รับผลกระทบเต็มไตรมาสจากเกณฑ์ใหม่ที่ควบคุมบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล แต่บริษัทยังสามารถแสดงผลการดำเนินงานที่โดดเด่น บ่งบอกถึงกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพของบริษัท นอกจากนี้ KTC วางเป้าหมายทางการเงินในปี 2561 นี้ แบบเชิงรุกมากขึ้น โดยตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและพอร์ตสินเชื่อโดยรวมจะเติบโต 15% และ 10% ตามลำดับ อีกทั้งบริษัทคาด NPL ratio ในปีนี้จะทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับปี 2560 โดยรวมแล้ว ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2561 ขึ้น 15.6% อยู่ที่ 3.8 พันล้านบาท คงคำแนะนำ “ถือ” ด้วยราคาเป้าหมายใหม่ 12 เดือนข้างหน้า 198 บาท จาก 168 บาท คำนวณจาก prospective PBV ที่ 3.4 เท่า (Gordon Growth Model)

อันดับที่ 3 วงในส่องTIPCOกำไรสุทธิปี 61 โตต่อเนื่องโบรกให้เป้า 22.75 บาท/หุ้น

มิติหุ้น บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย)  เปิดเผยว่า จากการประเมิน บมจ. ทิปโก้ฟูดส์ หรือ TIPCO เชื่อว่ากำไรสุทธิปี 2561 จะอยู่ที่ 992 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน   จากธุรกิจเครื่องดื่มมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นจากการจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว  ขณะที่ TASCO เชื่อว่าจะสามารถสร้างผลประกอบการได้อย่างโดดเด่น นอกจากนี้คาดโรงงานแห่งใหม่จะเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 3/2561 โดยเพิ่มกำลังผลิตจาก 120 ล้านขวดต่อปี เป็น 250 ล้านขวดต่อปี คาดจะส่งผลบวกชัดเจนต่อยอดขายในปี 2562  แต่อย่างไรก็ตามผลประกอบการปี 2561 อาจมีแรงกดดันจากธุรกิจสับปะรด แต่เชื่อว่าอาจมีผลในเชิงลบเพียงเล็กน้อย  โดยแนะนำ ซื้อ และมีราคาเป้าหมายที่ 22.75 บาท

อันดับที่ 4 MONOหวังเรตติ้งปี61เบียดขึ้นอันดับ 2 มั่นใจล้างขาดทุนสะสมแน่นอน

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.โมโน เทคโนโลยี หรือ MONO โดยนายนวมินทร์ ประสพเนตร ผู้ช่วยประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด เปิดเผยว่าปี 2561 บริษัทตั้งเป้าเติบโตที่ระดับ 3,500 ล้านบาท เติบโต 30-40% โดยหวังเรตติ้งทีวีขึ้นอันดับ 2 และวางงบลงทุนไว้ราว 800-900 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อลิขสิทธิ์หนังใหม่ นอกจากนี้ MONOยังเตรียมปรับค่าโฆณาขึ้น4หมื่นบาท/นาที ช่วงไพรม์ไทม์1 แสนบาท/นาที ดึงพาร์ทเนอร์ใหม่เสริมทัพคอนเทนต์

อันดับที่ 5 BANPU-BPP ควงคู่เด้งเขียว หลังแนวโน้มปี 61 ผลงานสุดว้าว กูรูแนะ “ซื้อเก็งกำไร”

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บมจ.บ้านปู หรือ BANPU พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาหลายวันทำการติดต่อกัน อีกทั้งภายในช่วงเช้านี้ยังมีปริมาณการซื้อขายสูงสุด โดยเบื้องต้นประเมินว่าเกิดจากราคาถ่านหินขึ้นทำ High รอบ 13 เดือน ล่าสุดราคาเฉลี่ยอยู่ที่  106 เหรียญสหรัฐต่อตัน   โดยBANPU ดำเนินธุรกิจหลักได้แก่  ธุรกิจถ่านหิน ที่ผลิตจากเหมืองที่บริษัทลงทุนในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และออสเตรเลีย 2) ธุรกิจไฟฟ้า ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำจากโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทในประเทศไทย (มาบตาพุด ระยอง) และที่ลงทุนในสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะที่ บล.บัวหลวง ได้ประเมินว่า แนวโน้มกำไรสุทธิช่วงไตรมาส 4/2560 ของBANPU จะเติบโตขึ้นได้เป็นอย่างดี จากราคาถ่านหินปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเชื่อว่าจะดีอย่างต่อเนื่องภายในปีนี้ อีกทั้งยังมี รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าที่สูงขึ้นอีกด้วย โดยแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ให้ราคาเหมาะสม  25 บาท ในส่วนของ  บมจ. บ้านปู เพาเวอร์ หรือ BPP ช่วงเช้านี้ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน หลังจากที่ผู้บริหารระดับสูงได้ออกมาให้ข้อมูลว่า คาดผลงานปี 2561 จะเติบโตมากกว่า 2560 ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมถึงมั่นใจว่าจะมีกำลังการผลิตครบ 2,070 MW ร้อมตั้งเป้าว่าภายในปี 2568 จะดันกำลังการผลิตไฟฟ้าแตะ 4,300 MW