ปัจจัยต่างประเทศยังหนุนการลงทุน

116

ปัจจัยสำคัญในต่างประเทศที่สำคัญและจะเป็นประเด็นต่อการลงทุนในปีนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของสหรัฐฯและยุโรปเป็นหลักนะครับ ประเด็นล่าสุดคือ การประชุมธนาคารกลางยุโปร (ECB) ในรอบธันวาคมที่ผ่านมานั้นมีการกล่าวถึงการปรับประมาณการเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและแนวโน้มที่จะหยุดการใช้มาตรการ QE ต่อ หลังจากหมดการอัดฉีดในช่วงเดือนกันยายน 2561 ที่จะถึงนี้ ส่งผลให้ความน่าจะเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ECB รอบเดือนธันวาคม 2018 ขยับขึ้นจาก 45% เป็น 57.3% อย่างไรก็ดี ทาง KTBST ได้เคยนำเสนอถึงแนวทางของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ECB นั้นจะไม่สามารถทำได้ในทันทีหลังจาก QE หมดลง และจะต้องรอเวลาอย่างน้อย 14 –15 เดือนหลังจากการหยุดอัดฉัดเนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในทันทีนั้นจะส่งผลเสียกับการจ้างงาน เงินเฟ้อ และระบบเศรษฐกิจในทันที ดังนั้นการคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นเพียงผลลบระยะสั้น

ดังนั้นในระยะสั้นๆนี้ปัจจัยการลงทุนที่นักลงทุนต้องติดตามคือ การรายงานตัวเลขดัชนีผู้บริโภคล่วงหน้า ในวันที่ 19 มกราคมนี้ คาดว่าจะออกมาที่ 95.3 ใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าที่  95.9  รวมทั้งการรายงานเงินเฟ้อจากทางอังกฤษ ในวันที่ 16 โดยคาดว่าจะออกมาที่ 3% ลดลงจากก่อนหน้าที่ 3.1% และทางเยอรมันจะมีการรายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคม คาดว่าจะออกมาที่ 1.7% และในวันที่ 17 จะมีการรายงานเงินเฟ้อจากทางยุโรป คาดว่าจะออกมาที่ 0.9% ทรงตัวจากช่วงก่อนหน้า ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะออกมาที่ 1.4% ชะลอตัวจากช่วงก่อนหน้าที่ 1.5%

ด้านทางเอเชีย จะมีการรายงานตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมาจากทางจีนในวันที่ 18 ม.ค. คาดว่าจะออกมาที่ 6.8% เป็นการทรงตัวจากช่วงก่อนหน้าและสูงกว่าเป้าหมายของจีนที่ 6.7% ขณะที่ตัวเลขยอดค้าปลีกน่าจะออกมาทรงตัวที่ระดับ 10.1%และตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะทรงตัวเช่นกันที่ 6% ส่วนทางญี่ปุ่นจะมีการรายงานดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะออกมาที่ 3.7% ลดลงจากก่อนหน้าที่ 5.9% และทางเกาหลีใต้จะมีการประชุมธนาคารกลางเกาหลีคาดว่าจะยังคงดอกเบี้ยที่ 1.5%

โดยรวมในระยะนี้ต้องบอกว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจค่อนข้างในเป็นไปในทิศทางบวกนะครับโดยเฉพาะในต่างประเทศทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น รวมทถึงตลาดเกิดใหม่อย่างจีนด้วย

สำหรับการจัดสรรการลงทุนในระยะนี้ KTBST ยังแนะนำการลงทุนเพิ่มเติมในตลาดหุ้นยุโรป , อินเดียและกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในไทยเนื่องจากมองว่ายังได้ปัจจัยบวกจากสภาพเศรษฐกิจในระยะนี้ ขณะเดียวกันนักลงทุนอาจพิจารณาปรับลดการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเงินฝากและหุ้นกู้เอกชน โดย KTBST ยังคงชอบการลงทุนในหุ้นสามัญมากกว่าตราสารหนี้ …

คุณชาตรี  โรจนอาภา

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ 

บล. เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (KTBST)